General

ปลาหมอคางดำ กับผลกระทบระบบนิเวศ

ปลาหมอคางดำ กับผลกระทบระบบนิเวศ ที่รัฐบาลต้องรีบจัดการ 

ปลาหมอคางดำกลายเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรหลายพื้นที่ไปแล้ว หลายคนอาจจะสงสัย ทำไมเกษตรกรถึงต้องกลัวปลาหมอคางดำ ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศมากน้อยขนาดไหน วันนี้ thebangkokinsight พาทำความรู้จัก ปลาหมอคางดำ คือปลาอะไร มีที่มาจากไหน ไปดูกัน

ปลา 1

ปลาหมอคางดํา คือปลาอะไร

ปลาหมอคางดำ หรือ Blackchin tilapia เป็นปลาที่มีลักษณะคล้ายกับปลาหมอเทศ มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Sarotherodon melanotheron Ruppell จัดอยู่ในวงศ์ Cichlidae เมื่อโตเต็มวัย จะมีขนาดยาวถึง 8 นิ้ว หรือมากกว่า

มีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แต่ต่อมาได้มีการนำเข้ามาในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะอเมริกา ยุโรป หรือประเทศไทยเองก็มีการนำเข้ามาในปี 2553 ปลาสายพันธุ์นี้ลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น ทนต่อความเค็มได้สูง ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

กระทบเกษตรกร ชาวประมง

ปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์และกระจายไปได้เร็วทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และทะเล ปัจจุบันพบว่าระบาดใน 17 จังหวัดชายฝั่งรอบอ่าวไทย และจังหวัดนครปฐม ราชบุรี ไปไกลสุดถึงอำเภอระโนด จังหวัดสงขลาแล้ว และคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี คาดว่าน่าไปถึงสิงคโปร์ในอีกไม่เกิน 3 ปี และไม่เกิน 10 ปีคงแพร่พันธุ์ผ่านฝั่งทะเลอันดามันไปยังพม่า ถึงลุ่มแม่น้ำคงคา และอีกด้านก็น่าจะไปถึงชายฝั่งเวียดนาม

ตั้งแต่ปลานี้แพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ พบว่าทำความเสียหายจำนวนมาก ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องแบกรับโดยเกษตรกรบ่อกุ้ง ชาวประมงพื้นบ้าน

ทำลายระบบนิเวศ

ปลาหมอคางดำ กินทั้งพืช สัตว์ แพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา รวมถึงซากของสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่ดีต่อระบบนิเวศอย่างมาก เนื่องจากนิสัยโดยทั่วไปของปลาหมอคางดำ มีความดุร้าย อีกทั้งยังมีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้การที่มีจำนวนปลาหมอคางดำเยอะ ก็ทำให้ปลาชนิดอื่น ๆ สูญพันธุ์ไปได้ด้วย

นอกจากนี้ยังชอบกินลูกกุ้งทะเล โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งแชบ๊วย รวมถึงลูกปลาวัยอ่อน ปลาหมอคางดำมีลำไส้ที่ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า มีระบบย่อยอาหารที่ดี ย่อยกุ้งได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 นาที เป็นสาเหตุว่าทำไมปลาหมอคางดำถึงมีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา

ก่อนหน้านี้ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ซึ่งมีปลา 3 สายพันธุ์ ได้แก่ 1.ปลาหมอสีคางดำ 2.ปลาหมอมายัน 3.ปลาหมอบัตเตอร์ ใครฝ่าฝืนจะมีโทษทางกฎหมาย จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ล่าสุดร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความรุนแรงของปัญหานี้ จึงได้กำหนดให้เป็นวาระเร่งด่วนของกระทรวง พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และได้รายงานสถานการณ์ต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและเตรียมประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งเร่งหาต้นตอการแพร่ระบาด

ขอบคุณข้อมูล  นิตยสารสาระวิทย์ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo