General

เข้ม ‘เจอ จับ ปรับ ผลักดัน’ ครบเดือน ตรวจสอบแรงงานต่างด้าวกว่าแสนราย ดำเนินคดี 726 ราย

เข้ม “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” ครบเดือน ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 726 ราย สถานประกอบการ 280 แห่ง จากการตรวจสอบ 8.7 พันแห่ง แรงงานกว่าแสนราย

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ตามมาตรการ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน”

โดยออกปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง สถานประกอบการ และคนต่างชาติ ที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง สถานประกอบการ และคนต่างชาติ มีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว และมติครม.ในคราวต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

แรงงานต่างด้าว

36 วัน ดำเนินคดี 726 ราย สถานประกอบการ 280 แห่ง

โดยล่าสุดได้รายงานผลการดำเนินการระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน – 11 กรกฎาคม 2567 รวม 36 วัน มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศแล้ว 8,776 แห่ง ดำเนินคดี 280 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 108,875 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 80,913 คน กัมพูชา 16,507 คน ลาว 7,804 คน เวียดนาม 104 คน และสัญชาติอื่น ๆ 3,547 คน

มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 726 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 473 คน กัมพูชา 74 คน ลาว 101 คน เวียดนาม 14 คน และสัญชาติอื่น ๆ 64 คน โดยเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวจะปฏิบัติการต่อไปอย่างเข้มข้น “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” จนครบระยะเวลา 120 วัน

แรงงานต่างด้าว

ย้ำทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตผิดกฎหมาย ทั้งแรงงานต่างด้าวและนายจ้าง

นายสมชาย กล่าวว่า แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องเคารพกฎหมายของเรา เช่นเดียวกับที่เวลาคนไทยไปทำงานในต่างประเทศก็ต้องเคารพกฎหมายของประเทศนั้น ๆ

โดยแรงงานต่างชาติต้องมีเอกสารประจำตัวบุคคลและใบอนุญาตทำงานถูกต้อง และทำงานตามสิทธิ ที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (มีทั้งสิ้น 40 งาน) รวมทั้งปฏิบัติตามขั้นตอนที่มติครม.ในคราวต่าง ๆ กำหนดไว้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้สามารถทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องหลบซ่อนและได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่พึงมี

ทั้งนี้ ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี

และนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานหรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo