สธ. เปิดโครงการรณรงค์ส่งเสริมการใช้ คาร์ซีท ป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ช่วยลดเสียชีวิตเด็กได้มากถึง 70% นำร่อง 6 รพ. เป็นต้นแบบ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวโครงการรณรงค์ส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ลูกรอดปลอดภัย ที่นั่งนิรภัยอย่ามองข้าม โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ จอส ฟอนเดลาห์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และดร.นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่สำคัญของคนไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งเด็กที่นั่งโดยสารด้านหน้ารถยนต์มีความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บมากกว่านั่งด้านหลัง
ทั้งนี้ ตามประกาศพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ได้กำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก (คาร์ซีท) เพื่อป้องกันอันตราย แต่พบว่าผู้ปกครองยังขาดความตระหนักและมีการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กน้อยมาก
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคและภาคีเครือข่าย จึงได้จัดโครงการนี้เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับเด็กไทยทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาด้านการส่งเสริมความปลอดภัยในเด็กให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ
พร้อมกันนี้ จะเริ่มนำร่องในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 6 แห่ง ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลสมุทรปราการ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และ โรงพยาบาลสุโขทัย เพื่อเป็นต้นแบบในการส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็กในโรงพยาบาล และขยายผลไปสู่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งต่อไป
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขและการบูณาการข้อมูล พบว่า 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – 2566) มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 89,569 คน เฉลี่ย 17,914 คนต่อปี ซึ่งในช่วง 5 ปี ดังกล่าว มีเด็กไทยอายุ 0 – 6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,010 คน โดย 117 คน เป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ เฉลี่ย 24 คนต่อปี ในส่วนของการบาดเจ็บ มีเด็กไทยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์และรถกระบะ 8,810 คน เฉลี่ย 1,763 คนต่อปี
จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า การใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ Car seat จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตของเด็กได้มากถึง 70% ซึ่งเด็กที่นั่งเบาะหน้ารถยนต์และไม่ได้ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก จะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงสูงกว่าเด็กที่นั่งด้านหลังและใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ถึง 5 เท่า
ด้านกรมควบคุมโรค ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เพื่อส่งเสริมและสร้างความตระหนักในการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และมารดาหลังคลอดในโรงพยาบาล
กิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย การมอบที่นั่งนิรภัยเด็กต้นแบบให้แก่โรงพยาบาลนำร่อง 6 แห่ง พร้อมมอบสื่อรณรงค์ให้ความรู้แก่หญิงตั้งครรภ์ที่เข้าร่วมโครงการ และบูธนิทรรศการการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก การสาธิตการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เป็นต้น
ขณะที่ สสส. ร่วมกับกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ริเริ่ม โครงการศึกษาพฤติกรรม และพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็กในโรงพยาบาล เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กสร้างความปลอดภัยขณะที่โดยสารบนรถยนต์
สำหรับในวันนี้ สสส. และภาคีเครือข่ายได้สนับสนุนที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ให้กับโรงพยาบาลนำร่องทั้ง 6 แห่ง และดำเนินการศึกษาพฤติกรรมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็ก พร้อมจัดทำคู่มือ-ชุดนิทรรศการ-สื่อการเรียนรู้การส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็ก ฝึกอบรมวิทยากรให้ความรู้การใช้ที่นั่งนิรภัยเด็ก และความปลอดภัย ให้แก่ พยาบาล นักสุขศึกษา นักส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงจัดกิจกรรมธนาคารสำหรับยืมที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เป็นต้น
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘สมศักดิ์’ คิกออฟส่งมอบประกันอุบัติเหตุกลุ่มฟรี 3 เดือน บุคลากร สธ.-อสม.
- อสม. เฮ!! สธ.จับมือ ธ.ก.ส. ออกบัตร Smart Card อสม. ล็อต 2 อีก 5 ปี รวมกว่าล้านคน
- ลูกจ้างต้องรู้ ประสบอันตราย-เจ็บป่วยจากการทำงาน ประกันสังคมดูแล เช็กเลย!!
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg