General

สั่งดำเนินคดีนายจ้าง ปัดความรับผิดชอบรักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าว อ้างเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

สั่งดำเนินคดีนายจ้าง ปัดความรับผิดชอบการรักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าว อ้างเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ย้ำจ้างแรงงานไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีความผิดโทษหนัก

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน สั่งการกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1

ดำเนินคดีนายจ้าง

ปัดความผิดชอบค่ารักษาพยาบาลแรงงาน

กรณี พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊คส่วนตัว ถึงนายจ้างชาวไทยที่จ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ หลังแรงงานต่างชาติได้รับบาดเจ็บจากการถูกของมีคมทะลุชายโครงซ้ายใกล้หัวใจ ทะลุกระบังลม

สุดท้ายถูกนายจ้างปัดความรับผิดชอบ ทิ้งภาระค่ารักษาพยาบาลแก่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โดยอ้างว่าค่ารักษาไม่เกี่ยวข้องกับตน เพราะแรงงานต่างชาติคนดังกล่าวเป็นแรงงานผิดกฎหมายเดินทางเข้ามาประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มทำงานกับตนเอง

อย่างไรก็ตามจากการสอบถามแรงงานต่างชาติสัญชาติเมียนมาที่บาดเจ็บ และภรรยาทราบว่าได้ทำงานกับนายจ้างรายดังกล่าวและได้รับค่าจ้างมาแล้วประมาณ 1 เดือน

จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เร่งดำเนินคดีนายจ้าง

ซึ่งการกระทำของนายจ้างรายดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 9 ห้ามผู้ใดรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง และดำเนินคดีร้องทุกข์กล่าวโทษนายจ้างรายดังกล่าว ณ สน.ทุ่งสองห้อง ต่อไป

ดำเนินคดีนายจ้าง
นายสมชาย มรกตศรีวรรณ

นายสมชาย กล่าวว่า กรมการจัดหางานขอย้ำเตือนว่า นายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000–100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ในส่วนคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งหากพบการกระทำความผิดกรมการจัดหางานจำเป็นต้องดำเนินคดีโดยไม่มีข้อยกเว้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo