General

4 ปี รถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุ 110 ครั้ง บาดเจ็บ-เสียชีวิต 318 ราย

กระทรวงสาธารณสุข วางมาตรการป้องกัน-แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุรถพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ทั้งผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ และญาติ ขณะส่งต่อผู้ป่วย หลังวิเคราะห์สาเหตุอุบัติเหตุ มาจาก 3 สาเหตุ ขับรถเร็ว- ฝ่าสัญญาณไฟจราจร- ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่า รถพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ในปี 2559 – 2562 รวม 4 ปี เกิดอุบัติเหตุ 110 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต 318 ราย เป็นพยาบาล และบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 129 ราย เสียชีวิต 4 ราย พิการ 2 ราย ผู้ป่วยบาดเจ็บ 58 ราย เสียชีวิต 3 ราย คู่กรณีเสียชีวิต 14 ราย เกิดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สิน จากการวิเคราะห์พบว่า ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากการขับรถเร็ว ฝ่าสัญญาณไฟจราจร ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

TKP 3309
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่ เกิดขณะส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลถึง 80% กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาล และความคุ้มครองอุบัติเหตุทางถนน ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์

มาตรการดังกล่าวเน้นย้ำสำหรับรถพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย และมาตรฐานในการรักษาพยาบาลเป็นสำคัญ โดยแพทย์เจ้าของไข้ จะทำการประเมินแล้วว่าผู้ป่วยมีสัญญาณชีพคงที่ ไม่อยู่ในภาวะวิกฤติ คาดว่าจะไม่ทรุดลงรุนแรงขณะนำส่งถึงโรงพยาบาลปลายทาง ส่วนการเปิดไซเรน หรือไฟฉุกเฉิน เป็นการแจ้งให้ผู้ใช้รถใช้ถนน ทราบว่าภายในรถมีผู้ป่วย

DSC 4833

ขณะเดียวกันรถพยาบาลยังคงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก และใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด หากใช้ความเร็วสูง แรงปะทะขณะเกิดอุบัติเหตุจะรุนแรง ทำให้เกิดโอกาสการเสียชีวิตได้มาก สำหรับการให้หยุดรถพยาบาลในจุดที่ปลอดภัย เพื่อทำหัตถการนั้น เพราะการทำหัตถการขณะรถวิ่ง พยาบาล และเจ้าหน้าที่ จะต้องปลดเข็มขัดนิรภัย มาทำหัตถการ ทำให้บุคลากรอยู่ในความเสี่ยง จึงมีนโยบายให้รถพยาบาลทุกที่นั่งติดตั้งเข็มขัดนิรภัย

“กระทรวงสาธารณสุขห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้ป่วย ญาติ และบุคลากร จึงขอให้ประชาชนเข้าใจแนวทางการปฏิบัติ ที่คำนึงถึงความปลอดภัย ของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ เป็นไปตามนโยบาย 2P Safety ”

TKP 2123

ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ทำประกันภัยรถพยาบาล ชั้น 1 ภาคสมัครใจ และเพิ่มวงเงินประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารหากเสียชีวิต หรือทุพลภาพถาวรเป็นคนละ 2,000,000 บาท สูงสุด 7 ที่นั่ง โดยรถพยาบาลที่หมดประกันภัยฉบับเดิม ให้ต่อประกันภัยฉบับใหม่ กับบริษัทประกันภัยที่มีข้อตกลงร่วมกัน จำนวน 4 บริษัทเพิ่มความคุ้มครองผู้ขับขี่ เจ้าหน้าที่ และผู้ป่วยที่ใช้รถพยาบาล

พร้อมกำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่ง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลอย่างเคร่งครัด โดยพนักงานขับรถพยาบาลต้องผ่านการอบรมหลักสูตรฝึกอบรมของกระทรวงสาธารณสุข และตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จำกัดความเร็วของรถพยาบาล ไม่เกิน 80 กม.ต่อชม. หรือไม่เกินที่กฎหมายกำหนด

ในรถต้องมีผู้โดยสารรวมพนักงานขับทั้งหมดไม่เกิน 7 คน ทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย และห้ามทำหัตถการขณะรถเคลื่อนที่ รถพยาบาลทุกคันต้องติดตั้งอุปกรณ์ GPS และกล้องวงจรปิดบันทึกภาพ ห้ามขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงทุกกรณี และให้คำนึงถึงเวลาทำงานที่เหมาะสมของบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ

Avatar photo