General

รู้จัก ‘หลุมอากาศ’ อันตรายแค่ไหน ต้องทำอย่างไรหากอยู่บนเครื่องบิน

รู้จัก “หลุมอากาศ” อันตรายแค่ไหน ต้องทำอย่างไรหากอยู่บนเครื่องบิน

จากเหตุการณืระทึกน่านฟ้า วานนี้ (21 พ.ค.67) เที่ยวบิน SQ321 ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ เส้นทางลอนดอน-สิงคโปร์ ทำการบินด้วยโบอิ้ง 777-300 ER ขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากสภาพอากาศย่ำแย่ สภาพอากาศแปรปรวนตามเส้นทางบินตลอดทาง ทำให้สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ทำให้ต้องทำการเปลี่ยนเส้นทางฉุกเฉินมาลงสนามบินสุวรรณภูมิ โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิต 1 ราย  คาดว่าเครื่อง “ตกหลุมอากาศ”

หลุมอากาศ

หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ว่าหลุมอากาศคืออะไร รุนแรงแค่ไหน เราขอพาทุกคนไปรู้จัก ซึ่ง thebangkokinsight ได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว ดังนี้

หลุมอากาศ คืออะไร 

หลุมอากาศ คือ การเคลื่อนที่ของอากาศที่ผิดปกติ ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนของเครื่องบิน มีหลายระดับความรุนแรง ตั้งแต่เบาไปจนถึงรุนแรงมาก

โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ให้ข้อมูลว่า เวลาเครื่องบินบินอยู่กลางอากาศนั้น ต้องใช้แรงยกจากอากาศที่เคลื่อนที่ผ่านปีกไป ซึ่งโดยปกติแล้ว อากาศจะมีความหนาแน่นเท่ากัน และเคลื่อนที่สม่ำเสมอไปพร้อมกัน แต่บางครั้ง เมื่ออากาศส่วนบน และส่วนล่างมีความเร็วในการเคลื่อนที่แตกต่างกัน หรือมีความหนาแน่นต่างกันมากๆ บริเวณรอยต่อจึงเกิดการปั่นป่วน และเคลื่อนที่คล้ายๆ กับระลอกคลื่น เมื่อเครื่องบินบินผ่านเข้าไปในบริเวณนี้จึงเกิดการสั่นสะเทือน เหมือนตกหลุม จึงเรียกว่า “หลุมอากาศ” นั่นเอง

เวลาเครื่องบินตกหลุมอากาศ ผู้โดยสารจะเหมือนตกลงไปจากระดับการบินเดิมเล็กน้อย บางครั้งเครื่องจะสั่น และหากรุนแรงมาก ก็อาจเกิดความเสียหายของข้าวของภายในเครื่องได้ ปกติแล้ว นักบินจะศึกษาเส้นทางที่อาจเกิดหลุมอากาศอย่างดี และพยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เวลาอยู่บนเครื่องบินเราก็ควรรัดเข็มขัดนิรภัยไว้ตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

ระดับความรุนแรง

ความรุนแรงของหลุมอากาศที่เกิดจากกระแสลมแปรปรวน หรือ Clear Air Turbulance – CAT นั้น สำนักอุตุนิยมวิทยาได้แบ่งเป็น 4 ระดับ

1. ความรุนแรงเล็กน้อย (Light) : ทำให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด นั่งอยู่กับที่นั่ง สิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินต้องเก็บให้เรียบร้อย ความรุนแรงในระดับนี้ ผู้โดยสารอาจจะไม่รู้สึกถึงการสั่น

2. ความรุนแรงปานกลาง (Moderate) : ทำให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด และผู้โดยสารอาจถูกโยนตัวขึ้นเป็นครั้งคราว แม้จะรัดเข็มขัดแล้ว และสิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินอาจเคลื่อนที่ได้

3. ความรุนแรงมาก (Severe) : สภาพปั่นป่วนทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ขณะหนึ่ง ผู้โดยสารถูกโยนตัวขึ้นลงอย่างรุนแรงขณะรัดเข็มขัด และสิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินอาจถูกโยนลอยขึ้นในอากาศได้

4. ความรุนแรงมากที่สุด (Extreme) สภาพความปั่นป่วนระดับนี้พบน้อยมาก ตัวเครื่องบินถูกโยนขึ้นลงอย่างรุนแรงมาก นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องบิน

หลุมอากาศ

วิธีป้องกันอันตรายขณะตกหลุมอากาศ ผู้โดยสารและลูกเรือจะต้องนั่งประจำที่ รัดเข็มขัดนิรภัยให้กระชับ มีสติและฟังคำแนะนำของพนักงานต้อนรับอย่างเคร่งครัด ซึ่งโดยปกติแม้จะไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติใดๆ แต่ทุกสายการบินจะแนะนำให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาเมื่ออยู่บนเก้าอี้ที่นั่งตลอดการเดินทาง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo