ศูนย์จีโนมฯ เตือนโนโรไวรัสระบาดหนักในสหราช อาณาจักร ป่วยแล้วนับพันราย รัฐบาลเตือนประชาชนหยุดงานเมื่อติดเชื้อ
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เรื่อง ระวัง!! โนโรไวรัสระบาดหนักในสหราชอาณาจักร รัฐบาลเตือนประชาชนหยุดงานเมื่อป่วย โดยระบุว่า
โนโรไวรัส (Norovirus) กำลังระบาดอย่างหนักในสหราชอาณาจักร ทำให้รัฐบาลต้องออกมาเตือนประชาชนให้ หยุดงานอยู่บ้าน หากติดเชื้อ เพราะมีผู้ป่วยนับพันราย และจำนวนยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
รายงานจาก สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (The UK Health Security Agency: UKHSA) ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อโนโรไวรัสในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงผิดปกติมากในช่วงนี้ของปี โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาถึง 75%
โนโรไวรัส เป็นไวรัสในตระกูล คาลิซิวิริแด (Caliciviridae) มีขนาดเล็กประมาณ 38 นาโนเมตร จัดเป็นไวรัสที่ไม่มีเปลือกหุ้ม (non-enveloped virus) ที่มีอาร์อ็นเอ สายเดี่ยว (Single-stranded RNA) เป็นสารพันธุกรรม
ปัจจุบันพบโนโรไวรัสมากกว่า 30 สายพันธุ์ แบ่งเป็น 7 genogroups โดยเชื้อก่อโรคในคนมากที่สุดคือ genogroup GI และ GII โนโรไวรัสมีความทนทานสูงต่อสภาพแวดล้อม สามารถมีชีวิตอยู่นอกตัวคนได้นานหลายวัน และยังทนต่อการฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์หรือคลอรีนความเข้มข้นต่ำอีกด้วย
โนโรไวรัส มักถูกเรียกว่า ไวรัสโรคท้องร่วงอาเจียนฤดูหนาว (Winter Vomiting Bug) เนื่องจากมีแนวโน้มระบาดหนักในฤดูหนาวถึงต้นฤดูใบไม้ผลิ แล้วจะลดลงเมื่ออากาศอุ่นขึ้น แต่ปีนี้การระบาดยังไม่มีทีท่าว่าจะซาลงเลย
ไวรัสตัวนี้ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียน โดยมีระยะฟักตัวสั้นเพียง 12-48 ชม. หลังได้รับเชื้อ และมีอาการนานประมาณ 1-3 วัน
กลไกการเกิดโรคเริ่มจากไวรัสเข้าทำลายเซลล์บุผิวของทางเดินอาหาร ผ่านการจับกับ Histo-blood group antigen (HBGA) receptor ที่ผิวเซลล์ จากนั้นจะเพิ่มจำนวนและแพร่กระจายสู่เซลล์ข้างเคียง ทำให้เกิดการอักเสบและบวมของลำไส้ นำไปสู่อาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน
ขณะเดียวกัน ยังกระตุ้นให้มีการหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการปวดเกร็งที่กล้ามเนื้อลำไส้ ส่งผลให้ถ่ายบ่อยและมีอาการปวดท้อง นอกจากนี้ยังอาจไปรบกวนการดูดซึมน้ำและสารอาหาร ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำตามมาในผู้ป่วยบางราย
สาเหตุที่โนโรไวรัสระบาดหนักในช่วงนี้ น่าจะเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งความสามารถในการกลายพันธุ์ได้รวดเร็วของเชื้อเอง ช่วยให้หลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ดี ประกอบกับอากาศที่ยังหนาวเย็นผิดปกติซึ่งช่วยให้ไวรัสอยู่รอดได้นานขึ้นในสิ่งแวดล้อม รวมถึงพฤติกรรมของผู้คนที่อยู่รวมกันในที่ร่มมากขึ้น ในช่วงอากาศหนาว ก็ยิ่งเอื้อต่อการแพร่กระจายเชื้อ
นอกจากนี้ ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงในฤดูหนาว และต้นฤดูใบไม้ผลิ ทำให้ร่างกายต้านทานเชื้อโรคได้น้อยลง ยิ่งถ้าเป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้มีโรคประจำตัว ก็เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงมากขึ้น อีกสาเหตุคือ ในช่วงเทศกาลท้ายปีต้นปี ซึ่งมีการเดินทางและรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเสริมให้เชื้อแพร่ได้ดี
การวินิจฉัยโรค อาศัยการซักประวัติและอาการทางคลินิกเป็นหลัก เนื่องจากโนโรไวรัสมีอาการเฉพาะที่ค่อนข้างจำเพาะ คือมีอาการท้องเสียเป็นน้ำแบบเฉียบพลัน อาเจียนรุนแรงโดยเฉพาะในเด็ก มีอาการปวดท้องและอ่อนเพลีย อาการมักรุนแรงสุดในช่วง 1-2 วันแรก ก่อนจะทุเลาลงเองภายใน 1-3 วัน โดยมากมักจะหายเองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
หากจำเป็นสามารถตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วย RT-PCR หรือตรวจแอนติเจนด้วยวิธี ELISA ยืนยันได้ แต่ในทางปฏิบัติมักใช้เฉพาะเพื่อการสอบสวนโรคเป็นหลัก
แม้จะยังไม่มียารักษาต้านไวรัสโดยเฉพาะ แต่การรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน และป้องกันภาวะขาดน้ำ ก็เพียงพอสำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ เนื่องจากหายเองได้ใน 2-3 วัน
อย่างไรก็ตามในกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรง เช่น ทารก คนชรา ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีโรคประจำตัว ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
ส่วนการป้องกันการติดเชื้อ แนะนำให้รักษาสุขอนามัยที่ดี โดยเฉพาะการล้างมือบ่อย ๆ ให้สะอาด ทั้งหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร หลังเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก ใช้สบู่ล้างมือนานอย่างน้อย 20 วินาที
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และไม่ควรเตรียมหรือสัมผัสอาหารหากมีอาการป่วย ผู้ติดเชื้อควรแยกตัวอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติอย่างน้อย 2 วัน ห้ามเข้าโรงเรียนหรือที่ทำงานเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
สิ่งสำคัญคือ ต้องทำความสะอาด และฆ่าเชื้อบริเวณพื้นผิวที่มีคนสัมผัสบ่อย ๆ โดยใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีนหรือสารฆ่าเชื้ออื่นๆ ซักล้างสิ่งของเครื่องใช้ ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนูที่อาจปนเปื้อนด้วยอุณภูมิน้ำร้อน รวมถึงต้มน้ำให้เดือดก่อนดื่ม ล้างผักผลไม้ให้สะอาดและปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง
ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมของโนโรไวรัส ทำให้สามารถแพร่กระจายได้ง่ายทั้งจากการสัมผัส ละอองฝอยจากการอาเจียน หรือจากอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน หากไม่ระมัดระวังการสัมผัสหรือรับประทาน การปฏิบัติตัวตามหลักสุขอนามัยและคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงได้มาก
นับเป็นมาตรการป้องกันที่ดีที่สุดในเวลานี้ เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันโนโรไวรัสที่ได้ผลดีในการใช้งานจริง แม้จะมีความพยายามในการพัฒนาและทดลองวัคซีนหลายชนิดอยู่ก็ตาม
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ยุคโอไมครอนกลายพันธุ์ระบาด ถอดบทเรียน รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ต้องปรับเปลี่ยนเร่งด่วน
- วิจัยจีนชี้ แม้โอไมครอนลดความรุนแรง แต่ยังเสี่ยงเกิดสมองเสื่อม
- ระวัง!! โอไมครอน KP.3 อาจแซงหน้า JN.1-FLiRT ขึ้นแท่นสายพันธุ์หลักในไทย
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg