General

ดีเดย์ 1 พ.ค. 67 ข้อมูลสุขภาพประชาชน เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว

กทม. จับมือ BDI ดีเดย์ 1 พฤษภาคม 2567 ข้อมูลสุขภาพประชาชนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว ทั้งร้านขายยา-คลินิก-สถานพยาบาล กทม. เพื่อคนกรุงฯเข้าถึงบริการสะดวกสบาย

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดทำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ (Health Information Exchange : Health Link) ระหว่างกรุงเทพมหานคร และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI

ข้อมูลสุขภาพประชาชน

ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการนำระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพมาใช้ในพื้นที่นำร่องภายใน 1 พฤษภาคม 2567 และจะขยายผลต่อให้ครบ 7 โซนสุขภาพทั่ว กทม. ภายในกลางปีนี้

สำหรับการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพผ่านระบบดิจิทัล จะช่วยให้หน่วยบริการทุกระดับสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชนได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล การติดตามอาการ ลดความซ้ำซ้อนในการจ่ายยา การส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ และเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการของประชาชน

กรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมกับสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange : HIE) จากข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Personal Health : PHR) ทำให้เกิดการบูรณาการข้อมูลเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ ด้วยเครือข่ายบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย สำหรับผู้ป่วย บุคลากร และประชาชน

รศ.ทวิดา กมลเวชช
รศ.ทวิดา กมลเวชช

รศ.ทวิดา กล่าวว่า เราพยายามที่จะทำให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของประชาชนอยู่ที่ตัวประชาชนจริง ๆ ไม่ว่าประชาชนจะไปรักษาพยาบาลที่ใด ทั้งโรงพยาบาลหรือระดับปฐมภูมิ หน่วยบริการจะสามารถเห็นข้อมูลประวัติการรักษา ประวัติการแพ้ยา ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับความยินยอมจากประชาชน

ดังนั้น ความร่วมมือในวันนี้จะทำให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเป็นทางการมากขึ้น ซึ่งความเป็นทางการของการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชน มีความสำคัญมาก เพราะหมายถึงการรักษาความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และทำให้ประชาชนรู้สึกวุ่นวายใจน้อยลงเมื่อต้องไปรักษาพยาบาลตามหน่วยบริการต่าง ๆ

การเปิดใช้การแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษาพยาบาล จะเริ่มจากพื้นที่นำร่องโซนสุขภาพ 3 ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน่วยบริการประกอบด้วย โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศูนย์บริการสาธารณสุข 17 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ร้านยาที่ผ่านการรับรองจากสภาเภสัชกรรมและขึ้นทะเบียนกับ สปสช.

ข้อมูลสุขภาพ1

หน่วยบริการที่จะสามารถเห็นข้อมูลการรักษาพยาบาลของประชาชนได้นั้น ต้องเข้าร่วมโครงการนี้ มีการทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้ทราบว่ามีหน่วยใดกำลังเชื่อมอยู่กับเราบ้าง เพื่อความปลอดภัยและรักษาข้อมูลของประชาชน

ด้านนายธนกฤต จินตวร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร มุ่งเน้นประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาที่ครอบคลุมทุกที่ โดยที่หมอสามารถรับรู้ประวัติการรักษาได้ทันที เพื่อการรักษาที่ปลอดภัยและถูกต้อง โดยจะใช้ในโรงพยาบาล คลินิกที่อยู่ในโครงการ

ในส่วนการทำการวิเคราะห์ข้อมูล เราได้ร่วมมือกับ สปสช. ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารใช้ในการบริหารจัดการในการเสริมสร้างสุขภาพให้กับประชาชนในกรุงเทพมหานคร โดยหลังจากดำเนินการในโซนสุขภาพ 3 และขยายครอบคลุมทั้ง 7 โซนสุขภาพแล้ว ก็จะเป็นต้นแบบใช้ทั่วประเทศต่อไป

สำหรับความปลอดภัยทางข้อมูล ผู้เข้าใช้บริการต้องมีการอนุญาตและยืนยันตัวตนในการใช้ข้อมูลก่อน ซึ่งบุคคลที่จะเข้าถึงข้อมูลได้มีเพียงแพทย์ หรือเภสัชกร มีการแยกข้อมูลการรักษาและข้อมูลส่วนตัว และเราใช้คลาวด์กลางของรัฐบาลจึงมั่นใจว่าการเก็บรักษาข้อมูลได้ตามมาตรฐานอย่างแน่นอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo