General

สธ. วอนญาติ-ร้านอาหาร-สถานบันเทิงช่วยสกรีนคนดื่ม ลดความสูญเสียช่วงสงกรานต์ 2567

สธ. พร้อมดูแลประชาชนเทศกาลมหาสงกรานต์ 2567 รวม 21 วัน ย้ำ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” วอนญาติ-ร้านอาหาร-สถานบันเทิงช่วยสกรีนคนดื่ม ลดความสูญเสีย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันแถลงข่าวขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ

สงกรานต์ 2567

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลประกาศให้มีการจัดกิจกรรม มหาสงกรานต์ World Songkran Festival ตั้งแต่วันที่ 1-21 เมษายน 2567 รวม 21 วัน เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนประเพณีสงกรานต์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รวมทั้งมีการประกาศวันหยุดราชการช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 – 16 เมษายน 2567 เพื่อให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เมื่อมีการใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศมีการจัดงานประเพณีและงานรื่นเริง ทำให้มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ

ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยถนน (ศปถ.) จึงประกาศดำเนินงานเข้มข้นเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ลดผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ช่วง 7 วัน ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2567 รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดและบุคลากรเตรียมความพร้อมในการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า ในช่วง 7 วัน เทศกาลสงกรานต์ปี 2566 มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 2,203 ครั้ง เสียชีวิต 264 ราย และบาดเจ็บรุนแรง 2,208 ราย สาเหตุหลักมาจากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด ขณะที่ในปีนี้ตั้งเป้าว่า จะลดลงให้ได้เกินครึ่งหนึ่งจากมาตรการที่เข้มข้นของทุกฝ่าย

ชลน่าน
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

สำหรับการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุที่ไม่สามารถตรวจวัดโดยวิธีเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ พบผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนดถึง 33.53% ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 80.46% ผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิต ไม่ได้สวมหมวกนิรภัย เกือบ 90% เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงทำให้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต

ดังนั้น ผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ ขอให้สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกล ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ส่วนผู้ที่เดินทางโดยรถยนต์ รถรับจ้าง รถโดยสารสาธารณะ ให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และหากเป็นเด็กเล็กควรจัดหาที่นั่งนิรภัย (Car Seat) ให้เด็กด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดและบุคลากรเตรียมความพร้อมดูแลประชาชนแล้ว หากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตbถึงชีวิต สามารถใช้สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตbมีสิทธิทุกที่ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ทั้งของรัฐหรือเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตหรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย

นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ทั้งที่ส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

นอกจากนี้ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัด ชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน พร้อมฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน ลงพื้นที่ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกัน, เตรียมความพร้อมหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกระดับ รวมทั้งทางอากาศและทางเรือ

ในส่วนของโรงพยาบาล ให้เตรียมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมรับผู้บาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุหมู่หรือมีความรุนแรง, เตรียมการรับ/ส่งต่อ ของสถานพยาบาลในเครือข่าย, ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 ให้ติดต่อประสานงานส่วนกลางกับจังหวัดและเครือข่ายสถานบริการตลอด 24 ชั่วโมง, เจาะเลือดผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และบูรณาการการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพผู้ถูกคุมประพฤติฐานขับรถในขณะเมาสุรากับหน่วยบริการของโรงพยาบาล

ช่วงสงกรานต์แต่ละปีมีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงปกติ เฉลี่ยวันละกว่า 3,500 ราย คาดว่าสงกรานต์ปีนี้จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น จึงขอให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุด้วยการ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีเวลาดูแลผู้ป่วยอื่นๆ อย่างเต็มที่

นพ.ดิเรก กล่าวว่า ปัญหาการดื่มแล้วขับยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง พบการขายในสถานที่และเวลาห้ามขาย จึงเน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำงานเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาล ให้ออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์บังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สงกรานต์ ปก

ส่วนช่วงเทศกาล ให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทั้ง 12 เขต สุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งการขายสุราในสถานที่ห้ามขาย สำรวจร้านค้าในชุมชนที่ขายสุราในเวลาห้ามขาย และให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดทีมเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน/ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีการดื่มสุรา จะส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบสวนและดำเนินคดีไปถึงผู้ขาย

หากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดกฎหมายให้โทรศัพท์แจ้งศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา โทร. 0-2590-3342 หรือ สายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนประเด็นการดื่มแล้วขับ หากดื่มที่บ้านตนเองหรือบ้านญาติ ขอให้ครอบครัวช่วยตักเตือนห้ามปรามไม่ให้ผู้ดื่มขับรถกลับบ้านเอง แม้ระยะทางจะใกล้ ก็ต้องหาผู้ขับขี่แทนหรือจัดหาที่พักที่ปลอดภัย ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหาร สถานบันเทิง ขอความร่วมมือคัดกรองนักท่องเที่ยวที่ดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ไม่ให้ขับรถ โดยจัดหารถสาธารณะหรือผู้ขับขี่แทน ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข 11-17 เมษายน 2566 พบผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับ 4,340 ราย โดยเป็นผู้ที่ดื่มแล้วขับ และขับรถล้ม 2,319 ราย คิดเป็น 53.43% และเกิดอุบัติเหตุ ในผู้ที่ดื่มแล้วขับที่เป็นเยาวชนต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 502 ราย

หลายคนอาจคิดว่าดื่มนิดเดียวไม่เป็นไร เพราะขณะที่ดื่มแอลกอฮอล์ยังดื่มซึมได้ไม่หมด แต่ขณะขับขี่จะดูดซึมขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่ส่งผลทำให้หมดสติ และเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางได้

สำหรับเทศกาลสงกรานต์ 2567 สสส. ได้รณรงค์ภายใต้แคมเปญ ดื่มไม่ขับ สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย ดื่มเหล้าเมาถึงสมอง เผยแพร่สปอตรณรงค์ชุด กล้าเสี่ยง เพื่อสื่อสารให้เห็นผลกระทบของแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ทำให้มีความกล้า คึกคะนอง และกล้าเสี่ยงมากขึ้น

ทั้งนี้ สสส. ได้ร่วมกับเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกว่า 100 เครือข่ายทั่วประเทศ รณรงค์ ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย สานพลังระดับพื้นที่ได้สนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ป้องกันอุบัติเหตุอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่จัดกิจกรรมเล่นน้ำ และอำเภอเสี่ยง 222 อำเภอ และในเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กว่า 3,000 แห่ง ศูนย์ประสานงานการจัดการความปลอดภัยทางถนน และ อปท.เครือข่าย 182 แห่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo