General

เจอแล้ว!! สาเหตุพบไรแดงในน้ำประปาเพชรบูรณ์ สธ.ประสาน กปภ. เร่งแก้จุดรั่ว

ทีม SEhRT กรมอนามัย ร่วมกับ กปภ. แจงเหตุพบไรแดง ตัวอ่อนของริ้นน้ำจืด ในน้ำประปาเพชรบูรณ์ คาดระบบฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปา หรือระบบท่อน้ำประปาอาจมีปัญหา เร่งแก้จุดรั่ว

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีประชาชนพบสิ่งแปลกปลอมรูปร่างคล้ายหนอน สีแดง ปลายหางสองแฉก ในน้ำประปา ของพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบล บึงสามพัน อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ ส่งผลให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลเรื่องความสะอาด และไม่กล้าใช้น้ำประปา อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟันและกังวลว่าบุคคลในครอบครัว บุตรหลานจะเกิดอันตราย

ไรแดง

ในเบื้องต้นกรมอนามัย ตรวจสอบข้อมูล พบว่า สิ่งแปลกปลอมดังกล่าว คือ หนอนแดงหรือไรแดง ซึ่งเป็นตัวอ่อนของริ้นน้ำจืด มีลักษณะคล้ายยุงเมื่อโตเต็มวัยหนอนแดงไม่เป็นอันตรายหรือไม่เป็นพาหะนำโรค แต่อาจทำให้เกิดการแพ้สำหรับผู้ที่มีผิวบอบบาง หรือผิวหนังไวต่อสิ่งแปลกปลอม

ทั้งนี้ การพบหนอนแดงปนเปื้อนในน้ำประปาพื้นที่ดังกล่าว บ่งชี้ว่ากระบวนการผลิตน้ำประปาระบบฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปา หรือระบบท่อน้ำประปาอาจมีปัญหา จนทำให้ริ้นน้ำจืดสามารถเข้าไปวางไข่ จนเกิดเป็นหนอนแดงได้

ล่าสุด กรมอนามัย ได้ส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบึงสามพัน โรงพยาบาลบึงสามพัน และสำนักงานการประปาหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ลงพื้นที่สำรวจ พบว่า สาเหตุที่พบหนอนแดงในน้ำประปา อาจเกิดจากก่อนหน้านี้ ท่อประปาในระบบชำรุดเสียหาย ทำให้มีริ้นน้ำจืดเข้าไปวางไข่ และเป็นหนอนแดงออกมากับน้ำประปาในครัวเรือน

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ 1
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์

ประกอบกับปัญหาในขั้นตอนการผลิตน้ำประปาบางกระบวนการ ที่มีโอกาสเสี่ยงให้ตัวริ้นน้ำจืดมาวางไข่ได้ จึงต้องมีการตรวจสอบทุกขั้นตอนในการผลิตอย่างเข้มงวดอีกครั้ง การประปาส่วนภูมิภาค ในพื้นที่จึงส่งทีมเจ้าหน้าที่ดำเนินกาซ่อมแซมท่อที่ชำรุดเสียหาย และระบายตะกอนในเส้นท่อทุกเส้นทั่วเขตอำเภอบึงสามพันแล้ว เพื่อให้ท่อประปาสะอาดไม่มีสิ่งปนเปื้อน

นอกจากนี้ การประปาส่วนภูมิภาคเขต 10 งานควบคุมคุณภาพน้ำที่ 2 ทำการเก็บตัวอย่างน้ำประปาเพื่อวิเคราะห์คุณภาพน้ำตามมาตรฐาน พบว่า ปัจจุบันน้ำประปามีความปลอดภัย สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน กำหนดให้มีการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาในชุมชน ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้น้ำของประชาชน

จากนั้น ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ลงพื้นที่เพื่อตรวจทานกระบวนการผลิตน้ำประปาในแต่ละขั้นตอนอีกครั้ง แต่ยังพบหนอนแดงออกมากับน้ำประปา จึงมีข้อเสนอให้สำนักงานประปาหนองไผ่ และการประปาส่วนภูมิภาคเขต 10 เร่งตรวจสอบระบบการผลิตน้ำประปาทุกขั้นตอน

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายทีม SEhRT ทุกพื้นที่ร่วมสำรวจและตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาตั้งแต่แหล่งน้ำดิบ กระบวนการผลิตตลอดจนน้ำประปาในครัวเรือน ร่วมกับ หน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเข้าสู่หน้าร้อนบางพื้นที่เริ่มมีปัญหาน้ำแล้งจะส่งผลให้น้ำมีการปนเปื้อนของสิ่งสกปรกและเชื้อโรค

ไรแดง

วิธีตรวจสอบน้ำในครัวเรือน-ปรับปรุงคุณภาพน้ำ

1. สังเกตลักษณะของน้ำประปา ต้องใส ไม่มีตะกอน ไม่มีสี และมีกลิ่นคลอรีนอ่อน ๆ แสดงว่าน้ำปลอดภัย เพราะได้ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว

2. หากกลิ่นคลอรีนฉุนเกินไป ให้เปิดน้ำประปาใส่ภาชนะที่สะอาดทิ้งไว้สักพักกลิ่นจะจางหายไปเอง หรืออาจใช้เครื่องกรองน้ำชนิดที่มีไส้กรองคาร์บอนหรือแบบผงถ่านก็ได้

3. ต้มน้ำให้เดือด เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนนำมาดื่มในบ้านเรือน เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก

4. ดูแลความสะอาดเครื่องกรองน้ำ หากที่บ้านใช้เครื่องกรองน้ำ ให้ตรวจสอบการกรองและไส้กรอง เพื่อทำความสะอาด หรือรีบเปลี่ยนไส้กรองน้ำหากพบการอุดตันหรือมีความสกปรกมาก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกรองน้ำและไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค

ที่สำคัญ กรมอนามัยยังร่วมกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการในการควบคุม กำกับ และเฝ้าระวังคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน เพราะ น้ำ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับการใช้ชีวิตของประชาชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo