General

ศาลฎีกาสั่ง ‘กองทัพบก’ ชดใช้เยียวยาให้ครอบครัว ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ 2 ล้าน

ศาลฎีกาสั่งกองทัพบก” ชดใช้เยียวยาให้ครอบครัวชัยภูมิ ป่าแส” 2 ล้าน นักเรียน ม.4 ถูกทหารวิสามัญ ตรวจค้นจับยาบ้า

กรณีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม  2560 นายชัยภูมิ ป่าแส หรือ จะอุ๊  ซึ่ง กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.4 โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณด่านตรวจบ้านรินหลวงยิงเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ก่อเหตุอ้างว่าพบห่อยาเสพติดจำนวน 2,800 เม็ด ซุกซ่อนในรถที่นายชัยภูมิขับมา และนายชัยภูมิได้ขัดขืนการจับกุมและควักระเบิดจะขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้กระทำวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ  จนเสียชีวิต

ชัยภูมิ ป่าแส

คดีศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ทั้ง 2 ศาล โจทก์ยื่นฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยไม่มีน้ำหนักมากเพียงพอที่ศาลฎีกาจะเชื่อถือได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าพลทหาร สุรศักดิ์ใช้ปืนเอ็ม 16 ยิงผู้ตายเพื่อป้องกันตัวตามที่จำเลยกล่าวอ้าง

โดยได้ความจากคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในชั้นไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้ตาย  น่าเชื่อว่าพลทหารสุรศักดิ์ใช้ปืนยิงเพื่อสกัดไม่ให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีโดยไม่ได้มีเจตนาประสงค์ต่อชีวิตของผู้ตาย แต่พลทหาร สุรศักดิ์ นำอาวุธปืนเอ็ม 16 ซึ่งเป็นอาวุธสงครามมีอานุภาพร้ายแรงใช้ยิงสกัดผู้ตายที่วิ่งหลบหนีโดย พลทหารสุรศักดิ์กำลังวิ่งไล่ตามอยู่นั้น ถือเป็นการกระทำโดยประมาท อันเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ทั้งนี้จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ต่อผลแห่งการละเมิดของเจ้าหน้าที่ของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เห็นพ้องด้วยกับฎีกาของโจทก์เพียงบางส่วน

ชัยภูมิ ป่าแส

ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิ์ที่จะได้รับอุปการะตามกฎหมายซึ่งอาจกำหนดให้ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายจะมีรายได้หรือได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือไม่ เมื่อพิเคราะห์ความสามารถในการประกอบอาชีพของผู้ตายได้ความว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายเป็นนักเรียนชั้นม.4 ทำกิจกรรมต่างๆมีรายได้และช่วย อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ ซึ่งผู้ตายมีผลการเรียนระดับดีมากน่าเชื่อว่าหากยังมีชีวิตจะสามารถสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ประกอบกับ ขณะเกิดเหตุโจทก์มีอายุ 45 ปี จำนวนเงินค่าขาดการไร้อุปการะที่โจทก์ขอมา จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิดแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าขาดไร้ความอุปการะแก่โจทก์  ส่วนข้อเรียกร้องค่าเสียหายต่อจิตใจนั้น กฎหมายแพ่งฯมาตรา 446 มิได้ให้สิทธิ์แก่ผู้เสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมเพื่อความเสียหายทางจิตใจได้ ศาลจึงไม่อาจกำหนดให้ได้

ศาลฎีกาจึงพิพากษากลับ ให้ กองทัพบก จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์รวมทั้งสิ้น 2,072,400 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2560 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่ปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปีตามมาตรา 224 วรรคหนึ่งแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีตามคำขอของโจทก์ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo