General

ตำรวจเตือน! ระวังโดนหลอกซ้ำ มิจฉาชีพสร้าง ‘เว็บแจ้งความออนไลน์ปลอม’ หลอกโอนเงินพนันออนไลน์

ตำรวจเตือน! ระวังโดนหลอกซ้ำ มิจฉาชีสร้าง “เว็บแจ้งความออนไลน์ปลอม” หลอกโอนเงินพนันออนไลน์ อีกมุกอ้างโทรจากห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล

พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สถิติการรับแจ้งความออนไลน์ วันที่ 20 สิงหาคม 2566  ถึง 26 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น รับแจ้งทั้งหมด 3,671 เคส  ความเสียหายกว่า 466 ล้านบาท

เว็บแจ้งความออนไลน์ปลอม

คดีที่มีอัตราเกิดมากที่สุด 5 อันดับแรก

  • อันดับ 1 คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ อยู่ที่ 1,781 เคส ยอดความเสียหาย 21,243,102.05 บาท
  • อันดับ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 378 เคส ยอดความเสียหาย 53,691,234.94 บาท
  • อันดับ 3 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 342 เคส ยอดความเสียหาย 175,573,367.60 บาท
  • อันดับ 4 คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 304 เคส ยอดความเสียหาย 13,324,870.00 บาท
  • อันดับ 5 คดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ฯ 270 เคส ยอดความเสียหาย 44,105,474.53 บาท

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับแจ้งพฤติการณ์ใหม่ที่คนร้ายนำมาใช้ ในการหลอกลวงพี่น้องประชาชน โดยคนร้ายทำเว็บแจ้งความออนไลน์ปลอม แล้วหลอกเหยื่อให้โอนเงินเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหาย และพบมุขใหม่แก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างว่าโทรติดต่อมาจากห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล

เว็บแจ้งความออนไลน์ปลอม

ระวังถูกหลอกซ้ำ มิจฉาชีพสร้างเว็บแจ้งความออนไลน์ปลอม

พล.ต.ต.ชูศักดิ์  ขนาดนิด ผบก.ตอท. กล่าวว่า ในช่วงนี้มีเว็บไซต์แจ้งความออนไลน์ปลอม โดยคนร้ายโฆษณาผ่านเพจ facebook ปลอม เมื่อเหยื่อเข้าไปค้นหาหน่วยรับแจ้งความออนไลน์  เพจกลุ่มนี้จะซื้อโฆษณาจาก facebook ทำให้เพจขึ้นมาในระบบค้นหาจากเว็บ Search Engines ต่างๆ ทั้ง Google / Bing / safari เป็นต้น

เมื่อเหยื่อหลงเชื่อกดเข้าเว็บไซต์หรือเพจ facebook ก็จะคุยกับระบบ AI และให้เพิ่มเพื่อนไลน์คนร้าย จากนั้นส่งต่อให้คนร้ายที่อ้างตัวเป็น “ทนายความ” เพื่อหลอกถามข้อมูล แล้วหลอกให้โอนเงินเข้าเว็บพนันออนไลน์

กลอุบายคนร้าย มีดังนี้  ระบุว่าได้ทำการตรวจสอบเส้นเงินแล้ว พบว่าเงินออกนอกประเทศไปแล้ว และคนร้ายใช้บัญชีม้า ทำให้ตามเงินกลับมาไม่ได้ แต่ว่าเงินยังฟอกไม่สำเร็จ และรู้ว่าเงินเข้าสู่แพลตฟอร์มไหน จากนั้นส่งต่อให้คนร้ายที่อ้างตัวว่าเป็นทีม IT สามารถโจมตีแพลตฟอร์มนี้ เพื่อนำเงินคืนมาให้ได้

จากนั้นส่งต่อให้หัวหน้าของคนร้ายที่เป็นเจ้าหน้าที่ IT อ้างว่า ขณะนี้เงินของเหยื่อได้เข้าสู่แพลตฟอร์มเว็บพนันออนไลน์ แต่จะช่วยโจมตีเว็บไซต์ดังกล่าวให้  โดยให้เหยื่อสมัครและเล่นในเว็บไซต์พนัน โดยอ้างว่า ไม่ได้พามาเล่นการพนันแต่เป็นการพามากู้เงินคืนจากเว็บไซต์

โดยจะทำการโจมตีให้เหยื่อ แต่มีข้อแม้ต้องใช้เงินตัวเองยิ่งเติมเยอะยิ่งได้คืนมาก และเร็ว และ ทำได้แต่บางช่วงเวลาของวันเท่านั้น ไม่เช่นนั้นเซิร์ฟเวอร์จะตรวจพบ และ ขอหักเงิน 10% เพื่อเป็นค่าทนาย จากรายได้ที่ได้จากการโจมตี  เหยื่อหลงเชื่อเพราะคิดว่าจะได้เงินคืน  สุดท้ายเสียเงินเพิ่ม”

ข้อแนะนำ

  1. ไม่มีหน่วยงานราชการหน่วยงานใดให้ประชาชนโอนเงินเพื่อเล่นเว็บพนันออนไลน์หรือโอนเงินให้ทำอะไรก็ตาม เพื่อให้ได้เงินคืน
  2. หากต้องการแจ้งความออนไลน์ให้แจ้งความผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com หรือแจ้งความสถานี ตำรวจท้องที่ได้ทั่วประเทศ
  3. หากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามหรือขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วน 1441 หรือ 191

เว็บแจ้งความออนไลน์ปลอม

กลลวงใหม่! อ้างโทรจากห้องฉุกเฉิน จะผ่าตัดด่วน ให้โอนเงิน

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ฯ  กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงนี้มีคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ใช้มุกใหม่

  • ใช้เบอร์มือถือซิมม้า โทรหาเหยื่อ
  • แจ้งว่ามีคนไข้ถูกส่งมาที่ห้องฉุกเฉิน
  • มีค่าใช้จ่ายต้องชำระสำหรับการผ่าตัดด่วน
  • เหยื่อปฏิเสธว่าไม่รู้จักบุคคลที่ถูกส่งมาห้องฉุกเฉินดังกล่าว แต่ทางคนร้ายยังคงยืนยันว่าคนไข้คนดังกล่าวระบุชื่อเหยื่อเป็นเบอร์ติดต่อ หากคนไข้เป็นอะไรไปเหยื่อต้องรับผิดชอบ
  • เหยื่อขอคุยสายกับนายแพทย์เจ้าของคนไข้ แต่คนร้ายไม่ยอมจึงได้วางสายไป
  • เหยื่อพยายามโทรกลับไปติดต่อแต่โทรกลับไปไม่ได้ มีเสียงแจ้งว่าไม่สามารถติดต่อเลขหมายดังกล่าวได้
  • ภายหลังเหยื่อได้นำเบอร์มือถือดังกล่าวมาตรวจสอบกับ Application Whoscall พบว่าเป็นเบอร์ที่ถูกรายงานไว้ว่าเป็นเบอร์คนร้าย

จุดสังเกต

  1. คนร้ายใช้ซิมม้าโทรตามแนวชายแดนที่มีสัญญาณผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นการโทรศัพท์จากโรงพยาบาลจริง
  2. หมายเลขโทรศัพท์ที่คนร้ายโทรหา ไม่สามารถโทรติดต่อกลับไปได้

เว็บแจ้งความออนไลน์ปลอม

วิธีป้องกัน

  1. ให้สังเกตความผิดปกติของปลายสาย เช่น ถามชื่อ – นามสกุล จริง การใช้ข้อความอัตโนมัติ การโอนสายให้เจ้าหน้าที่ หากมีการ VIDEO CALL ให้สังเกตความผิดปกติของเสียงและท่าทาง ( คนร้ายใช้โปรแกรมปลอมใบหน้า )
  2. หากคนร้ายอ้างเหตุต่าง ๆ หรือข่มขู่ให้โอนเงิน ให้โทรศัพท์ตรวจสอบหรือโทรสายด่วนหน่วยงานที่มีการแอบอ้าง ก่อนดำเนินการใด ๆ
  3. หากมีหมายเลขโทรศัพท์ ที่ไม่ได้บันทึกไว้ในเครื่องโทรหา ไม่ควรรับสายในทันที  และให้ตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชัน Whoscall  ว่าเป็นเบอร์คนร้ายหรือเป็นเบอร์ที่ถูกรายงานไว้หรือไม่

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน  จึงขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่าปัจจุบันคนร้ายยังคงใช้วิธีการหลอกโดยอาศัยกลโกงเดิม ๆ  แต่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ

ดังนั้นเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่  สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook   https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวง แจ้งความตำรวจผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  เท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo