General

คืนนี้ 30 ส.ค. รอชม ‘ซูเปอร์บลูมูน’ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี เผยเป็นบลูมูนในรอบ 3 ปี

คืนนี้ 30 ส.ค. รอชม “ซูเปอร์บลูมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี พร้อมเฉลย ทำไมบลูมูน? ทั้งที่ไม่ใช่ดวงจันทร์สีน้ำเงิน

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แจ้งว่า พุธที่ 30 นี้ !! ถึงคิวเหล่าตัวแทนแห่งดวงจันทร์ พบกับปรากฏการณ์ “ซูเปอร์บลูมูน” ถึงเช้าวันที่ 31 สิงหาคม 2566

ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และในคืนดังกล่าวยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน หรือ บลูมูน (Blue Moon)

ซูเปอร์บลูมูน

ชมได้ 18:09 น.เป็นต้นไปจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น

ในคืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และความสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 15%

 เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ในครั้งนี้ คือช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:09 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ของวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์อีกด้วย

ซูเปอร์บลูมูน

ทำไมถึงเรียกบลูมูน ทั้งที่ไม่ใช่ดวงจันทร์สีน้ำเงิน

บลูมูน (Blue Moon) ไม่ได้หมายถึงดวงจันทร์สีน้ำเงิน ในทางดาราศาสตร์แล้ว บลูมูน หมายถึงดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ปกติแล้วดวงจันทร์มีคาบการโคจรรอบโลกประมาณ 29.5 วัน ในขณะที่หนึ่งเดือนในปฏิทินที่เราใช้กันมี 30-31 วัน ส่งผลให้เมื่อวันเวลาผ่านไป บางเดือนมีวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงถึง 2 ครั้งในช่วงต้นเดือนและปลายเดือน ซึ่งนานทีจะเกิดขึ้น และอาจทำให้ใครหลายคนนึกถึงสำนวนภาษาอังกฤษอย่าง Once in a blue moon ที่หมายถึงอะไรที่เกิดขึ้นได้ยาก หรือนาน ๆ จะเกิดขึ้นที

บลูมูนครั้งนี้ นับเป็นบลูมูนในรอบ 3 ปี ครั้งล่าสุดที่เกิดบลูมูนคือวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ซึ่งในครั้งนั้นนอกจากจะตรงกับวันฮาโลวีนแล้ว ยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) พอดีอีกด้วย

ส่วนปีนี้ เราน่าจะทราบกันแล้วว่าตรงกับช่วงดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon) จึงเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า Super Blue Moon นอกจากจะเป็นดวงจันทร์ครั้งที่ 2 ของเดือนแล้ว ยังเป็นดวงจันทร์ที่ขนาดปรากฏจะใหญ่กว่าปกติ (และแน่นอนว่ามมองเห็นเป็นดวงจันทร์สีขาวนวลเหมือนทุกวัน) เวลาที่เหมาะสมสำหรับชมความสวยงามคือคืน 30 สิงหาคม ถึงรุ่งเช้า 31 สิงหาคม 2566

หากคืนดังกล่าวฟ้าใสไร้เมฆ สามารถชมความสวยงามด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ หรือถ้าอยากเห็นแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ ก็มาชมกับ NARIT ได้ที่หอดูดาวทั้ง 4 แห่งที่เชียงใหม่ นครราชสีมา สงขลา และฉะเชิงเทรา

ซูเปอร์บลูมูน

4 จุดสังเกตการณ์ซูเปอร์บลูมูนของ NARIT

NARIT เตรียมจัดสังเกตการณ์ “ซูเปอร์บลูมูน” ในคืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 18:00-22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่งของ สดร.

  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ : โทร. 084-0882261
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา : โทร. 086-4291489
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา : โทร. 084-0882264
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา : โทร. 095-1450411

หรือรับชม LIVE ปรากฏการณ์ ได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ https://www.facebook.com/NARITpage

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo