General

กรมอุทยานฯ ร่วมกับ ม.รามคำแหง ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก ‘ก้อมอาจารย์น้อย’

กรมอุทยานฯ ร่วมกับ ม.รามคำแหง ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “ก้อมอาจารย์น้อย” พบใน 3 จังหวัดของไทย

นักพฤกษศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ร่วมกับภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “ก้อมอาจารย์น้อย” Ehretia pranomiana Rueangs. & Suddee

ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่โครงการนิเวศวิทยาและการกระจายของสังคมพืชดอยหัวหมด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง นางสาวอนุสรา แก้วเหมือน นายคุณานนต์ ดาวนุไร และนายสมราน สุดดี ได้ทำการแวะสำรวจพรรณพืชในเส้นทางแม่สอด-อุ้มผาง ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 พบไม้พุ่มกึ่งเลื้อยในสกุลก้อม (Ehretia) ขึ้นบริเวณเขาหินปูน น้ำตกธารารักษ์

พืชชนิดใหม่ของโลก

“ก้อมอาจารย์น้อย” พืชชนิดใหม่ของโลก 

จึงได้ประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญผู้รับผิดชอบวงศ์ก้อม (Ehretiaceae) สำหรับโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย รศ. ดร.กนกอร เรืองสว่าง แห่งภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อตรวจสอบ พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ จึงได้ร่วมกันเขียนตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Nordic Journal of Botany ของเดนมาร์ก

ก้อมอาจารย์น้อย Ehretia pranomiana Rueangs. & Suddee วงศ์ Ehretiaceae คำระบุชนิด “pranomiana” ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ. ดร.ประนอม จันทรโณทัย นักวิจัยอาวุโส อดีตอาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญพืชหลายวงศ์และให้ความช่วยเหลือโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) มาอย่างต่อเนื่อง

พืชชนิดใหม่ของโลก

Ehretia pranomiana ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nordic Journal of Botany เล่มที่ NJB-2023: e04010doi: 10.1111/njb.04010 วันที่ 18 สิงหาคม ปี ค.ศ. 2023 จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบหมายเลข Thananthaisong et al. 716 เก็บจากบริเวณน้ำตกธารารักษ์ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (holotype: BKF; isotypes: K, KKU) ชื่อไทย “ก้อมอาจารย์น้อย” ตั้งตามชื่อเล่นของ ศ. ดร.ประนอม จันทรโณทัย

พืชชนิดใหม่ของโลก

ลักษณะทางพฤษศาสตร์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่มกึ่งพาดเลื้อย สูงได้ถึง 2 เมตร ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี กว้าง 2.5-8 ซม. ยาว 4-13 ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม อาจเบี้ยวเล็กน้อย ขอบจักฟันเลื่อยถึงหยักซึ่ฟันไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนทั้ง 2 ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 3-7 เส้น ด้านบนนูนเล็กน้อย ด้านล่างนูนเด่นชัด ก้านใบยาว 0.5-2.5 ซม. มีขนสีขาวหนาแน่น

ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายยอดหรือบนกิ่งสั้นใกล้ปลายยอด ช่อยาว 2.5-6 ซม. แต่ละช่อมี 4-10 ดอก ก้านช่อดอกยาว 1.5-3.5 ซม. มีขนหนาแน่น ดอกสีขาว เกือบไร้ก้านหรือก้านดอกยาวได้ถึง 1 มม. กลีบเลี้ยงสีเขียว ยาว 5-7 มม โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็นแฉกลึกรูปแถบ 5 แฉก มีขนหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน ขยายใหญ่และติดทนเมื่อเป็นผล

369628291 625494369763600 2520891978792281632 n

กลีบดอกยาว 0.8-1 ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกรูปขอบขนาน 5 แฉก ปลายมน ด้านนอกมีขนสั้น เกสรเพศผู้ 5 เกสร แยกจากกันเป็นอิสระ ยาว 3-4 มม. ไม่โผล่พ้นหลอดกลีบดอก อับเรณูรูปขอบขนาน ติดด้านหลัง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มี 4 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว 5-7 มม. ปลายแยกเป็น 2 แฉก เกลี้ยง ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 มม. เกลี้ยง สุกสีเหลืองหรือส้ม เมล็ด 4 เมล็ด มีสันตามยาว 1 สัน

ก้อมอาจารย์น้อยพบขี้นบริเวณป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทย บริเวณจังหวัดตาก กาญจนบุรี และเพชรบุรี ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 400-700 เมตร

369597184 625494516430252 82764205981912548 n

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo