General

สังคมไทยเรียนรู้อะไรจากเรื่องของ ‘หยก’ จิตแพทย์แนะเปิดใจกว้างรับความเห็นต่าง

“หมอยงยุทธ” ถอดบทเรียนสังคมจากเรื่องของ “หยก” แนะเปิดใจกว้างรับความเห็นต่าง ใช้มาตรการเชิงป้องกัน สร้างความเข้าใจ 3 ฝ่าย 

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก กรณีปัญหาการเรียนต่อของ หยก เยาวชนไทยอายุ 15 ปีที่กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม ในฐานะนักจิตแพทย์ โดยระบุว่า

หยก

สังคมไทยเรียนรู้อะไรในเรื่องของ หยก

ปัญหาการเรียนต่อของ หยก เยาวชนไทยอายุ 15 ปี ได้ขยายบานปลายไปในสื่อสังคมต่าง ๆ จนเข้าไปอยู่ในวังวนของความรู้สึกที่รุนแรง หวาดกลัว หรือกระทั่งหวาดระแวงการแสดงออกของเยาวชนคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง สังคม และการศึกษา

นับเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้ทบทวนเพื่อก้าวต่อไปด้วยกัน เพราะคนรุ่นนี้จะมาเป็นหลักในการพัฒนา และสืบสานสังคมไทยในอนาคต

ก่อนอื่นควรมาทำความเข้าใจในพื้นฐาน 2 ด้านของปัญหานี้

ด้านที่ 1 คือ ความเห็นต่างทางการเมือง อันที่จริงเราได้รับบทเรียนมากว่า 10 ปี ว่าการปฎิบัติต่อความเห็นต่าง ว่าเป็นเรื่องของความถูกผิด ดีเลว ทำให้สังคมไทยไม่มีทางออก จนเกิดความรุนแรง และกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

ถึงเวลาแล้วที่เราจะกลับมา เปิดใจกว้างกับความเห็นต่าง ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพลเมือง ที่มีความปรารถนาดีต่อสังคม ทำให้เรามีทางเลือก มองเห็นปัญหาและทางออกที่หลากหลาย แทนความเกลียดชัง ( เพราะไปเห็นว่า ถูกผิดดีเลว )

ด้านที่ 2 คือ เรื่องของวัย ที่จริงผู้ใหญ่ทุกคนก็เคยผ่านการเป็นวัยรุ่นมาแล้ว จึงไม่ยากที่จะเข้าใจได้ว่า เป็นวัยที่แสวงหาอัตลักษณ์ และความเป็นตัวของตัวเอง จนอาจแสดงออกที่ไม่ถูกใจเราได้

แต่ด้วยการฟัง และให้ความสำคัญกับความมีอยู่ของตัวตน และความคิดเห็นของเขา ก็จะมองข้ามการแสดงออกบางอย่างที่ดูเหมือนรุนแรงไปได้ ในที่สุดเขาก็จะกลับมามีบทบาทในทางสร้างสรรค์

ในทางตรงข้าม ถ้าฝ่ายที่เป็นผู้ใหญ่กว่า ใช้วิธีไม่ยอมรับและกดดัน ความขัดแย้งก็จะไปในทางรุนแรงมากขึ้น

ยิ่งต่างฝ่ายมีสังคมและสื่อสังคมของตนเอง ก็ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความเกลียดชังและข่าวลวงต่าง ๆ อย่างที่เราสัมผัสได้ในเวลานี้

ก่อนอื่นผมจึงเสนอว่า ในสื่อสังคมเราต้องช่วยกัน 2 ไม่ (ไม่ผลิตและไม่ส่งต่อ) 1 เตือน (ด้วยเหตุผล) เพื่อให้สังคมไทยกลับมาอยู่บนพื้นฐานของการเปิดรับความเห็นต่างโดยไม่เกลียดชัง เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยเดินหน้าต่อไปได้

นักเรียน1

 

ส่วนการแก้ปัญหากความ เห็นต่าง กับเยาวชน สถานศึกษาควรใช้มาตรการเชิงป้องกัน ด้วยการสื่อสารและสร้างความเข้าใจ ระหว่าง 3 ฝ่าย (โรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียน) ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น home room ประชุมผู้ปกครอง กิจกรรมนร.นศ. ด้วยบรรยากาศของการเปิดรับและเคารพซึ่งกันและกัน

กรณีที่บานปลายไปแล้ว อย่างที่เป็นข่าว ควรให้สายวิชาชีพ ที่จะทำงานโดยไม่มีอคติทางเมือง เข้ามาเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย สร้างความเข้าใจระหว่าง 3 ฝ่าย โดยเฉพาะนักสังคมสงเคราะห์ของ กระทรวงพม. และนักวิชาชีพสุขภาพจิต ของ กระทรวงสาธารณสุข

สำคัญที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบันคือ ช่วยกันอย่าปล่อยให้สื่อสังคมสร้างความเกลียดชัง  ที่ทำให้สังคมไทยเสี่ยงต่อความรุนแรง ด้วยการไม่ส่งต่อ และช่วยเตือนการส่งข้อความที่รุนแรง และข่าวลวงด้วยครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo