General

สปสช. ชง สธ. 5 แนวทาง ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ แก้ปัญหาหมอลาออก

สปสช.เตรียม 5 แนวทางหารือ สธ.ลดภาระการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมแก้ปัญหาหมอลาออก

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีแพทย์ลาออกโดยส่วนหนึ่งมาจากภาระงานของแพทย์ที่เพิ่มขึ้นมากจากการให้บริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น

หมอลาออก

สำหรับการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ สปสช.ดูแลอยู่ เพื่อให้ประชาชนไทยกว่า 48 ล้านคน ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาล และบริการสาธารณสุขตามสิทธิ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ในวิชาชีพอื่น ๆ มีภาระงานเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา สปสช. มีการบริหารจัดการและมีนวัตกรรมรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้ไอทีหรือเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ ๆ เพื่อลดภาระการทำงานของแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์หลายแนวทาง

ทั้งนี้ สปสช.ได้เตรียม 5 แนวทางในการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ไว้ ดังนี้

1. เสนอยกเลิกการคีย์ข้อมูลหรือบันทึกข้อมูลในระบบเพื่อการเบิกจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์กับ สปสช. โดยจะนำร่องในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง และสามารถดำเนินการได้ทันที หากโรงพยาบาลมีความพร้อม ในการเชื่อมต่อระบบกับ สปสช.

การดำเนินงานดังกล่าว จะเป็นการเชื่อมโยง API (Application Programming Interface) หรือการเชื่อมต่อระบบของทางโรงพยาบาลโดยตรง ซึ่งการบันทึกข้อมูลในระบบนั้น มีประโยชน์ในการตรวจสอบการเบิกจ่าย การนำข้อมูลมาใช้วางแผน เพื่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ

2. เสนอให้ สายด่วน สปสช. 1330 ช่วยกระจายผู้ป่วยใน (IPD) ที่รอเตียงเพื่อการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งจุดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาล และอาจจะสร้างความกดดันให้กับแพทย์ได้

บริการนี้ สปสช.ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะนี้มีเตียงจากโรงพยาบาลเอกชน นอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เข้ามาเป็นสถานพยาบาลกรณีเหตุสมควรตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สำรองประมาณ 600 เตียงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล

ในส่วนของต่างจังหวัด หากข้อเสนอนี้ผ่านการหารือ และตกลงร่วมกันกับ กระทรวงสาธารณสุข สายด่วน สปสช. 1330 ก็จะทำหน้าที่กระจายผู้ป่วยในที่รอเตียงได้ โดยกระจายไปยังโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลเอกชนที่มีเตียงว่าง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

3. ผลักดันนวัตกรรมบริการ เพื่อลดการมาโรงพยาบาล โดยความร่วมมือกับหน่วยบริการต่าง ๆ ทั้งนี้ สปสช.ตั้งเป้าว่า นวัตกรรมบริการสุขภาพวิถีใหม่นี้ จะช่วยลดการมาโรงพยาบาลได้ 30% หรือ 60 ล้านครั้งต่อปี

ทั้งนี้ จะเป็นนวัตกรรมเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล บริการบางรายการที่สามารถทำนอกโรงพยาบาลได้และมีหน่วยบริการอื่นที่มีความพร้อม ได้แก่ เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการรับยาที่ร้าน พร้อมรับคำปรึกษาจากเภสัชกร

จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า ให้บริการผู้ป่วยไปแล้วว่า 1.4 แสนราย คิดเป็นจำนวนรับบริการกว่า 2.02 แสนครั้ง

นอกจากนั้นยังมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน, จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์, เจาะเลือดหรือตรวจแล็บใกล้บ้าน, กายภาพบำบัดที่คลินิกกายภาพบำบัด, บริการพยาบาลพื้นฐาน เช่นการทำแผลชนิดต่างๆ ที่คลินิกการพยาบาล, บริการแพทย์แผนไทย, บริการสาธารณสุขทางไกล (Telemedicine), บริการผ่าตัดวันเดียวกลับ (ODS), บริการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (MIS) และบริการเคมีบำบัดที่บ้านในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Home Chemotherapy)

4. สนับสนุนนโยบายห้องฉุกเฉินคุณภาพ เพื่อให้ห้องฉุกเฉิน เป็นห้องฉุกเฉินจริง ๆ นั่นคือ เป็น emergency room ไม่ใช่ everything room ตามนโยบายของ กระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาล จะจัดแยกบริการเป็น 2 ส่วน คือ

  • ห้องฉุกเฉินคุณภาพ เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) และผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) มีการจัดห้องแยกเฉพาะ พร้อมอุปกรณ์และบุคลากรตามแนวทางการจัดบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
  • ห้องบริการแยกจากห้องฉุกเฉิน เป็นบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง กรณีมีเหตุสมควร และกรณีเจ็บป่วยทั่วไป ที่เป็นความจำเป็นผู้มีสิทธิที่ต้องเข้ารับบริการนอกเวลาราชการ

ล่าสุด มีหน่วยบริการ 129 แห่ง ได้ดำเนินการตามแนวทาง บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ฉุกเฉินเร่งด่วน และเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง กรณีมีเหตุสมควร หรือผู้เจ็บป่วยทั่วไป ที่เป็นความจำเป็น เข้ารับบริการนอกเวลาที่หน่วยบริการตามที่กำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

5. ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลตนเองหรือ self care โดย สปสช.ร่วมกับหน่วยบริการหลากหลายรูปแบบ เช่น เจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถไปรับยาที่ร้านยาได้ หรือหากอยู่ในกรุงเทพฯ ใช้บริการการแพทย์ทางไกล หรือพบหมอออนไลน์ พร้อมจัดส่งยาถึงบ้านกับแอปพลิเคชันสุขภาพ 4 แห่งที่เข้าร่วม โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล

สำหรับทั้ง 5 แนวทางนี้ สปสช.ได้เตรียมหารือร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อการดำเนินการต่อไป โดยตั้งเป้าว่า จะช่วยลดภาระงานของแพทย์ และบุคลากรลงได้ ทั้งยังช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเบื้องต้น หรือเจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาลอีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo