General

พยากรณ์อากาศ ‘วันเลือกตั้ง’ ทุกภาคมีฝนตก – กรมอุตุฯ เตือนพายุไซโคลน ‘โมคา’ ฉบับที่ 8

กรมอุตุฯ ประกาศเตือน พายุไซโคลน “โมคา” มีผลกระทบถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ฉบับที่ 8 พยากรณ์อากาศวันนี้ ‘วันเลือกตั้ง’ ทุกภาคยังมีฝนตก

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง “พายุไซโคลน “โมคา” (มีผลกระทบถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2566) ฉบับที่ 8 (146/2566)” ระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น.ของวันนี้ (14 พ.ค. 66) พายุไซโคลน “โมคา” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 260 กิโลเมตร ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองซิตตเว รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา หรือที่ละติจูด 18.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 91.2 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 220 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเมียนมาตอนบนในวันนี้ (14 พ.ค. 66)

ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

สำหรับในช่วงวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2566 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

พายุ

 

ขณะที่พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก รวมทั่งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ย

สำหรับลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2–3 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

พายุ

อนึ่ง พายุไซโคลน “โมคา” (MOCHA) บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน มีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาตอนบนในวันนี้ (14 พ.ค. 66) ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง

ฝุ่นละอองในระยะนี้ : ประเทศไทยมีการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากมีฝนเพิ่มขึ้นและการระบายอากาศดี

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 06:00 น. วันนี้ ถึง 06:00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี และราชบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-37 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

 ภาคตะวันออก อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ จ.ชุมพรขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานีลงไป ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส

ตั้งแต่จังหวัดระนองขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไป : ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

 กรุงเทพและปริมณฑล อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

พายุ

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight