General

กรมอุทยานฯ นำร่องจัดการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการ 20 แห่ง ที่ไหนบ้างเช็กเลย!!

กรมอุทยานฯ เร่งบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการ นำร่อง 20 แห่ง ใช้ปัญหาไฟป่าเป็นบทเรียน

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมซักซ้อมแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่

กรมอุทยานฯ

นายอรรถพล กล่าวว่า ตามที่ได้ประชุมมอบนโยบายผู้บริหารและหัวหน้าหน่วยงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และมีคำสั่งการบริหารเชิงพื้นที่ให้แต่ละพื้นที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ หรือ Single Command สู่การบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่

สำหรับเป้าหมายของการบริหารจัดการแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ เป็นการออกแบบการบริหารเชิงพื้นที่ขึ้นใหม่ โดยบูรณาการแผนทั้งบุคลากร การทำงาน และงบประมาณของหน่วยงานเป็นหนึ่งเดียว โดยผนวกภารกิจที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ เช่น การป้องกันและปราบปราม การควบคุมไฟป่า การฟื้นฟูระบบนิเวศ ที่ดินและราษฎร รวมถึงอนุสัญญา เข้ากับภารกิจหลักของพื้นที่อนุรักษ์นั้น ๆ

จากการประชุมหารือ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ได้มีการคัดเลือกหน่วยงานภาคสนามเข้าร่วมบูรณาการ 2,614 หน่วย ประกอบด้วย สถานีควบคุมไฟป่า 150 หน่วย หน่วยจัดการต้นน้ำ 234 หน่วย สวนป่า/โครงการด้านฟื้นฟูพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,586 หน่วย โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 174 หน่วย โครงการขยายผลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 61 หน่วย

อรรถพล เจริญชันษา
อรรถพล เจริญชันษา

จากนั้นได้คัดเลือกพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่นำร่อง 20 หน่วย ดังนี้

คัดเลือกจากสำนักอุทยานแห่งชาติ 10 พื้นที่ ได้แก่

1. อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

2. อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า

3. อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

4. อุทยานแห่งชาติดอยภูคา

5. อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก

6. อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

7. อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

8. อุทยานแห่งชาติผาแดง

9. อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

10. อุทยานแห่งชาติสาละวิน

11 2

คัดเลือกจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า 10 พื้นที่ ได้แก่

1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน

2. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด

4. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

5. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง

6. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

7. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว

8. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย

9. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย

10. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน

นายอรรถพล ได้กำชับให้ทั้ง 20 พื้นที่นำร่อง เร่งกำหนดโครงสร้างการทำงานให้ชัดเจนตามกรอบการดําเนินงานตามแผนงานในปีงบประมาณ 2566 โดยให้ยึดถือตามระเบียบ กฎหมาย หนังสือสั่งการและคําสั่งต่าง ๆที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายเงินประจําปีตามที่ได้รับจัดสรร เพื่อออกแบบการทำงานและดำเนินการตามแผนและนำไปสู่การปฏิบัติงานได้จริง

ขณะเดียวกัน ให้มีการนำบทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมา เช่น กรณีเรื่องปัญหาไฟป่าที่บางหน่วยงานยังทำงานได้ไม่เต็มที่ไม่เต็มศักยภาพ นำมาใช้เป็นตัวอย่างในการกำหนดแผนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo