General

รอลุ้น!! ชมดาวหางดวงใหม่ ‘จื่อจินซาน-แอตลัส’ ด้วยตาเปล่าเดือน ก.ย. 2567

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ชวนลุ้นชมดาวหางที่ค้นพบใหม่ “จื่อจินซาน-แอตลัส” ที่อาจชมได้ด้วยตาเปล่าช่วงเดือนกันยายน 2567 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก เรื่องความเคลื่อนไหวของดาวหางที่ค้นพบดวงใหม่ชื่อ จื่อจินซาน- แอตลัส ที่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าตั้งแต่ช่วงเดือนตกันยายน 2567 โดยระบุว่า

จื่อจินซาน-แอตลัส

ดาวหางที่ค้นพบใหม่ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) กำลังโคจรมุ่งหน้าเข้าใกล้ดวงอาทิตย์อีกครั้งในรอบเกือบ 81,000 ปี และอาจปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ช่วงเดือนกันยายน 2567

ดาวหางจื่อจินซาน- แอตลัส มีชื่อทางการคือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ค้นพบโดยระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

แต่ต่อมาพบว่านักดาราศาสตร์จากหอดูดาวจื่อจินซาน ในประเทศจีน ได้ค้นพบดาวหางดวงนี้ก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม ดังนั้น ชื่อของหอดูดาวทั้งสองฝั่งจึงกลายเป็นชื่อของดาวหาง

ปัจจุบัน ดาวหางจื่อจินซาน- แอตลัส กำลังอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์ โดยจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 28 กันยายน 2567 ในระยะห่างราว 58.6 ล้านกิโลเมตร (ประมาณระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพุธ)

ดาวหาง

จากนั้น จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 13 ตุลาคม 2567 ที่ระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร โดยนักดาราศาสตร์คำนวณพบว่าดาวหางดวงนี้โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบใช้เวลา 80,660 ปี

ทั้งนี้ การที่เราจะเห็นดาวหางดวงนี้ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวดาวหางเอง แม้ว่านิวเคลียสของดาวหางในปัจจุบันจะมีสภาพเป็น วัตถุก้อนเดี่ยว ที่เป็นการเกาะกลุ่มกันหลวม ๆ ของน้ำแข็ง หิน และฝุ่น

อย่างไรก็ตาม นิวเคลียสของดาวหางหลายดวง เมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนอุ่นขึ้นมาก และจะแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ เช่น กรณีดาวหางไอซอน ในปลายปี 2556 จึงทำให้ดาวหางไม่ได้มีความสว่างอย่างที่คาดการณ์ไว้

แต่หากดาวหางจื่อจินซาน- แอตลัส ไม่แตกตัวทั้งในช่วงก่อน และหลังเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ อาจจะสามารถเห็นได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไป

จากข้อมูลเท่าที่มีในปัจจุบัน นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่า ดาวหางดวงนี้จะสว่างกว่าดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ที่โคจรเข้ามายังระบบสุริยะชั้นในเมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่ดาวหาง ZTF มีความสว่างสูงสุดที่แมกนิจูดปรากฏ +4.6 (สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งและมืดสนิท)

แต่การคาดการณ์ค่าแมกนิจูด ปรากฏในช่วงที่ดาวหางจื่อจินซาน – แอตลัสสว่างที่สุดยังไม่แน่นอนนัก มีตั้งแต่ประมาณ +0.7 ไปจนถึง -3.5 ซึ่งสว่างกว่าดาวพฤหัสบดี และอาจมองเห็นได้ตั้งแต่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท (“ค่าแมกนิจูดปรากฏ” ของวัตถุท้องฟ้า ยิ่งค่าน้อยแสดงว่าวัตถุนั้นยิ่งสว่าง)

นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์ที่ทราบการค้นพบดาวหางดวงนี้ ได้กลับไปตรวจค้นฐานข้อมูลภาพถ่ายท้องฟ้ายามค่ำคืนก่อนหน้า จนพบว่าดาวหางจื่อจินซาน – แอตลัส เคยปรากฏในภาพถ่ายจากกล้องถ่ายภาพมุมกว้างที่ต่อกับกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวปาโลมาร์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2565

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ยังขาดข้อมูลของดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัสอีกมาก เช่น ขนาดของนิวเคลียสดาวหาง ซึ่งจะช่วยบอกได้ว่าดาวหางจะมีโอกาสรอดจากการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงการประมาณความสว่างของดาวหางที่ละเอียดและแม่นยำมากขึ้น

เรียบเรียงโดย: พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo