General

เตือน กทม. เป็นหนึ่งในมหานครที่เสี่ยงจมบาดาลในอีก 50 ปี แนะหยุด ‘ทุบ รื้อ ถอน’

คณะวิทย์ มธ. เตือน กทม. เป็นหนึ่งในมหานครที่เสี่ยงจมบาดาลในอีก 50 ปี แนะปรับผังเมืองโดยไม่ “ทุบ รื้อ ถอน”  เสริมแนวป้องกันริมแม่น้ำ ไม่ต้องย้ายเมืองหลวง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรเทพ วิชย์โกวิทเทน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เปิดบทวิเคราะห์ผลกระทบจากภาวะโลกรวน (Climate Change) เผย กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในมหานครที่มีความเสี่ยงจมบาดาลภายใน 50 ปี

เสี่ยงจมบาดาล

ทั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญจาก 3 ปัจจัย คือ 1. การทรุดตัวของชั้นดินเฉลี่ย 2-3 เซนติเมตรต่อปี 2. น้ำทะเลหนุน 3. การสูญเสียน้ำใต้ดินจากการใช้น้ำบาดาลในอดีต

นอกจาก กทม. แล้ว ยังพบว่า เมืองหลวงหรือมหานครหลายแห่งของประเทศต่าง ๆ ก็มีความเสี่ยงจมบาดาลเช่นกัน อาทิ อินโดนีเซีย, ไนจีเรีย, รัฐเท็กซัส สหรัฐ, รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐ, รัฐฟลอริดา สหรัฐ, รัฐลุยเซียนา สหรัฐ, บังคลาเทศ, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, อิยิปต์

สำหรับเมืองต่าง ๆ ดังกล่าว ส่วนใหญ่มีทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ติดทะเล มีลักษณะเป็นเมืองท่า ที่มีความสำคัญง่ายต่อการเดินทางสัญจร การติดต่อค้าขายตั้งแต่อดีต ที่มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกัน และเป็นปัญหาที่หลายประเทศเร่งหาทางออก ซึ่งบางประเทศได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวง อาทิ อินโดนีเซีย

จากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ในการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลรุกคืบจาก ภาวะโลกรวน (Climate Change) และ 3 ปัจจัยเสี่ยงของมหานครที่เป็นเมืองท่าติดทะเล พบว่า การย้ายมหานครควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากกระทบต่อประชาชนที่ต้องเคลื่อนย้าย และใช้งบประมาณที่สูงมากกับการจัดผังเมืองเมือง สร้างอาคาร ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภค

ผศ. ดร.ไตรเทพ วิชย์โกวิทเทน
ผศ. ดร.ไตรเทพ วิชย์โกวิทเทน

ชง 3 ข้อเสนอแนวทางปรับผังเมือง

ทั้งนี้ คณะวิทย์ มธ. มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการ ปรับผังเมือง โดยยึดหลักไม่ ทุบ รื้อ ถอน ซึ่งเน้นการปรับฟังก์ชั่นการใช้งานประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่

1. การลดพื้นที่อเนกประสงค์บริเวณชั้น 1 โดยใช้งานตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไป เพื่อลดผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมฉับพลัน

2. การเพิ่มทางเดินลอยฟ้า (Sky walk) ที่เชื่อมจากอาคารออฟฟิศ เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าโดยไม่ต้องเดินลุยน้ำ ซึ่งมีต้นทุนไม่สูงมาก ถ้าเทียบกับการรื้อผังเมืองเพื่อสร้างใหม่ หรือการย้ายมหานคร

3. การเสริมแนวคันกั้นน้ำประสิทธิภาพสูง ไม่มีร่องฟันหลอตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้ คณะวิทย์ มธ. ยังมองถึงปัญหาของกลุ่มจังหวัด ที่เป็นพื้นที่รอยต่อชายทะเลของภาคกลาง อาทิ กทม. สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ที่เริ่มเห็นผลกระทบจากการรุกคืบของน้ำทะเล และการกัดเซาะชายฝั่ง และทำให้สูญเสียพื้นที่บกตามแนวชายฝั่งไป

ภาพประกอบ น้ำท่วม กทม

จากการลงพื้นที่พบว่า แนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่าง ป่าชายเลน มีไม่มากพอที่จะทำหน้าที่ชะลอความแรงของคลื่น และเพิ่มการตกตะกอน จนนำไปสู่การเกิดแผ่นดินงอกใหม่ได้

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง แต่จากการศึกษาในพื้นที่พบว่า เมื่อจบขั้นตอนการปลูกแล้ว ไม่มีการดูแลติดตามผล

ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ ปัญหาการระบายน้ำและของเสียภายในแปลงปลูก เนื่องจากบริเวณป่าชายเลน จะประกอบไปด้วย โคลนและตะกอน เมื่อสะสมเป็นเวลานานโดยไม่มีการไหลเวียนของน้ำ ทำให้เกิดการสะสมของสารอินทรีย์ในปริมาณมาก ดินตะกอนเกิดการเน่าเสีย จนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของกล้าไม้ที่ปลูก และทำให้กล้าไม้ตายในที่สุด

จากการศึกษายังพบว่า มีการใช้แปลงปลูกป่าชายเลนหลายแห่ง เพื่อปลูกเวียน ปลูกซ้ำ ซึ่งทำให้พื้นที่ป่าชายเลยไม่ได้เพิ่มขึ้น และในทางกลับกัน บริเวณชายฝั่งถูกกัดเซาะเพิ่มขึ้นทุกปี

คำแนะนำสำหรับการปลูกป่าชายเลน

คณะวิทย์ มธ. มีข้อแนะนำสำหรับการปลูกป่าชายเลน คือ ต้องสร้างความตระหนักรู้กับประชาชนว่า เมื่อปลูกแล้วต้องติดตามการเติบโต หมั่นดูแลการไหวเวียนของน้ำ และระบบนิเวศแปลงปลูก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ควรทำต่อเนื่องและวัดผลจากพื้นที่ป่าชายเลนที่เพิ่มขึ้น แทนการวัดด้วยจำนวนต้นที่ปลูกใหม่

ภาพประกอบ ป่าชายเลน

พร้อมกันนี้ แนะนำให้เสริมกิจกรรมการปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น เพื่อเพิ่มเกราะป้องกันแนวป่าชายเลนที่ปลูกใหม่ ซึ่งทั้งการปลูกป่าชายเลนที่มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และการเสริมแนวไม้ไผ่กันคลื่นก่อนปะทะแนวป่าปลูกใหม่ จะช่วยลดผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่ง และลดความเสี่ยงน้ำทะเลหนุนของ กทม. และจังหวัดที่มีติดชายฝั่งทะเลได้อีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกัน คณะวิทย์ มธ. ยังห่วงค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 ที่กระทบการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ที่ส่วนใหญ่เกิดจาก การเผาของภาคเกษตรกรรม และรองลงมาคือ ไฟป่า โดยเสนอไอเดียสำหรับการแก้ปัญหา ด้วยการเพิ่มแรงจูงใจเพื่อหยุดการเผา ที่ช่วยลด Hot Spot อย่างยั่งยืน และไม่ควรหนุนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าปีต่อปี

เสนอ 2 แนวทางคืนสุขภาพปอดที่ดีให้คนไทย

1. เพิ่มรางวัลจูงใจแก่ชุมชนที่ปลอดการเผา 100% อาทิ ให้งบประมาณอุดหนุนการซื้อปุ๋ยในราคาพิเศษ, คูปองส่วนลดน้ำมันกลุ่มดีเซลสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ บรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ควบคู่กับการลงโทษด้วยการจับปรับ ที่มีกระบวนการที่ล่าช้า และมีประสิทธิภาพน้อยกว่า

2. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ อาทิ พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ดอยหลวงเชียงดาว ที่มีแนวทางบริการจัดการที่น่ายกย่องให้เป็นแบบอย่างของวิถีชุมชนกับป่า และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo