สาธารณสุขตั้งเป้าลด “วัณโรค” เหลือ 88 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2564 เผยประเทศไทยเร่งดำเนินการ เพื่อลดปัญหาวัณโรคอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง 4 ด้าน ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มุ่งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เน้นมาตรการป้องกัน ควบคุม และยุติวัณโรคในประเทศไทย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน ดำเนินการ เพื่อลดปัญหาวัณโรคมาอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการอย่างเข้มข้น และจริงจังจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญ และตระหนักในปัญหาวัณโรคมาตลอด โดยเฉพาะระยะ 4 ปีที่ผ่านมา ได้กำหนดให้เป็นนโยบายระดับชาติ คือ แผนปฏิบัติการระดับชาติ ด้านการต่อต้านวัณโรค ปี 2560–2564 ซึ่งประเทศไทย ตั้งเป้าลดอัตราอุบัติการณ์ของวัณโรคลง 12.5 % ต่อปี จาก 171 ต่อประชากรแสนคนในปี 2557 ให้เหลือ 88 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2564 และให้เหลือ 10 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2578
มาตรการคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา
- เข้าถึงบริการให้ครอบคลุมการตรวจรักษาวัณโรคอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน โดยกำหนดเป็นนโยบายให้คัดกรองค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ ผู้ป่วยเบาหวาน ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ผู้สูงอายุมีโรคร่วม แรงงานข้ามชาติ และบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข
- สอบสวนโรคในผู้สัมผัสวัณโรค
- เร่งรัดค้นหา และวินิจฉัยวัณโรคดื้อยาในกลุ่มเสี่ยง โดยส่งตรวจทดสอบความไวต่อยาทุกราย
- การตรวจคัดกรอง วินิจฉัยโดยการ X-ray และการตรวจทางห้องปฏิบัติการฯ
- รักษาด้วยยาตามแนวทางการควบคุมวัณโรคแห่งประเทศไทย 2561 และดูแลตามมาตรฐานสากล
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การป้องการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค 4 ด้านภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ไว้ดังนี้
- โรงพยาบาลทุกแห่ง ต้องมีห้องแยกโรค เฉพาะผู้ป่วยวัณโรค รวมถึงเรือนจำที่มีผู้ป่วยวัณโรคด้วย
- โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ต้องมีห้องแยกโรคแรงดันลบ สำหรับรับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรงมากไว้เป็นผู้ป่วยในจนกว่าเสมหะจะปราศจากเชื้อวัณโรค
- โรงพยาบาลทุกแห่ง มีคลินิกวัณโรคเฉพาะวัณโรค ไม่ปะปนกับผู้ป่วยอื่นๆ
- มีการคัดกรอง และให้บริการแบบช่องทางด่วน (Fast Track)
การป้องกันการป่วยเป็นวัณโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้กำหนดมาตรการ และดำเนินการค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ติดเชื้อ และมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคสูง คือ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ต้องขัง และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
พร้อมให้ยารักษาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง ถือเป็นนโยบายและมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อลดปัญหาวัณโรคในประเทศไทย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

อย่างไรก็ตามมีบางพื้นที่ ที่การควบคุมโรคยังไม่บรรลุเป้าหมาย เช่น เขตสุขภาพที่ 7 ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ระหว่างปีงบประมาณ 2559 – 2561 ในเขตสุขภาพที่ 7 มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ และที่กลับเป็นซ้ำมารักษาที่โรงพยาบาล เฉลี่ย 6,347 รายต่อปี ซึ่งถือว่าอัตราความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคยังไม่บรรลุเป้าหมาย
โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการร่วมกันอย่างเข้มแข็ง ล่าสุดประสานความร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข บูรณาการกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยวัณโรคในเขตสุขภาพที่ 7 เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการตรวจวัณโรคด้วยวิธี TB-LAMP ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำสำหรับการตรวจคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค
ข้อดี คือ ใช้เวลาทดสอบสั้น มีความไว และความจำเพาะสูง เป็นเทคนิค ที่ง่ายในการทดสอบ ใช้เครื่องมือพื้นฐานที่ไม่ซับซ้อน และตรวจได้มากกว่า 20 ตัวอย่างต่อรอบ หรือมากกว่า 60 ตัวอย่างต่อวัน รวมทั้งการตรวจวัดผลง่ายไม่ยุ่งยาก โดยมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 200 บาทต่อการทดสอบ ซึ่งถูกกว่าวิธี Xpert/RIF ที่มีราคา 700 บาทต่อการทดสอบ
ในปีงบประมาณ 2562 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จึงให้การสนับสนุนน้ำยา TB-LAMP ที่สถาบันฯ พัฒนาขึ้นเอง และงบประมาณสำหรับการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของห้องปฏิบัติการในเขตสุขภาพที่ 7