สปสช. เผยครม.เห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.ฎ. 4 ฉบับ ให้ผู้ประกันตน ข้าราชการ พนักงานเมืองพัทยา และข้าราชการกรุงเทพมหานคร ใช้สิทธิดูแลสร้างเสริมสุขภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (14 มี.ค. 2566) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา 4 ฉบับ กำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่
1. ข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการและบุคคลในครอบครัว
2. ผู้มีสิทธิเบิกจ่ายเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของกรุงเทพมหานคร
3. พนักงานเมืองพัทยาและบุคคลในครอบครัวตามข้อบัญญัติเมืองพัทยา เรื่อง เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานเมืองพัทยา
4. ผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
ทั้งนี้ ให้ทั้ง 4 กลุ่มดังกล่าว สามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
หลังจากนี้ ขั้นตอนต่อไป ร่าง พ.ร.ฎ.ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวจะถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจพิจารณาต่อไป เมื่อการดำเนินการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ร่าง พ.ร.ฎ.ทั้ง 4 ฉบับนี้จะถูกส่งกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และเสนอทูลเกล้าฯ ต่อไป

การเสนอร่างพ.ร.ฎ.ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันนี้นั้น เป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธานได้เร่งรัดให้มีการดำเนินการเรื่องนี้เพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทองได้เข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่จำเป็นโดยเร็ว
พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้ สปสช. หารือกับหน่วยงานที่ดูแลกองทุนสุขภาพของกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทอง อาทิ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เป็นต้น ออกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดสิทธิรับบริการสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในการดูแลของกองทุนนั้นๆ สามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ได้
เมื่อดำเนินการเรื่องนี้แล้วเสร็จ โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน หน่วยบริการสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากมีหลักประกันที่เป็นข้อกฎหมายรองรับไว้แล้ว ต่อไปคนไทยทุกคนก็จะได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- สธ. แจง ‘งบสร้างเสริมป้องกันโรค’ กลุ่มนอกสิทธิบัตรทอง อยู่ระหว่างออก พ.ร.ฎ.ให้ สปสช.เป็นผู้ดูแล
- เปิด 7 ผลงานเด่น สปสช. ปี 2565 ผู้ใช้สิทธิบัตรทองผู้ป่วยใน-นอกเกือบ 170 ล้านครั้ง
- เพิ่มสิทธิบัตรทอง ตรวจแล็บฟรี!! 24 รายการ ที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ 17 แห่ง