General

ชวนคนไทยถือสิทธิบัตรทอง คัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็ง 4 รายการ เช็กเลย

​โฆษกรัฐบาล เชิญชวนคนไทยถือสิทธิบัตรทอง เข้าถึงสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองความเสี่ยง มะเร็งปากมดลูก-ลำไส้-ช่องปาก-เต้านม เพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาด ฟรี

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตระหนักถึงภัยของโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคร้ายที่คุกคามสุขภาพประชากรทั่วโลกรวมถึงคนไทย จึงได้ร่วมรณรงค์ให้คนไทยดูแลสุขภาพ

ถือสิทธิบัตรทอง

ทั้งนี้ สปสช. ได้เพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มต้น ให้ได้รับการรักษาโดยเร็วเพื่อการรักษาให้หายขาดได้ภายใต้ระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยจัดสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง 4 รายการ เพื่อดูแลผู้มีสิทธิให้เข้าถึงบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ มะเร็งช่องปาก และมะเร็งเต้านม

ขณะที่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ระบุว่า แต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ถึงวันละ 381 คน หรือ 139,206 คนต่อปี และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปี

สำหรับ 5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในชายไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วน 5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก

สำหรับ สปสช. ได้จัดสิทธิประโยชน์บริการที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท อย่างต่อเนื่อง โดยครอบคลุมบริการป้องกัน การรักษา ทั้งการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ฮอร์โมน ทั้งตามโปรโตคอลการรักษา 20 ชนิด (Protocol) และการรักษามะเร็งทั่วไป โดยเฉพาะการเข้าถึงยามะเร็งที่มีราคาแพงที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษา

อนุชา 3

 

ในส่วนของบริการป้องกันและคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งนั้น กองทุนบัตรทองมี 4 สิทธิประโยชน์บริการ ได้แก่

  • บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สำหรับหญิงไทยทุกสิทธิ อายุ 30-59 ปี และอายุ 15-29 ปี ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือ ตรวจและจี้ด้วยน้ำส้มสายชู (VIA) หรือ ตรวจคัดกรองด้วยวิธี HPV DNA Test โดยมีสิทธิรับบริการตรวจคัดกรอง 1 ครั้ง ทุก 5 ปี
  • บริการวัคซีนเอชพีวีสำหรับเด็กนักเรียนหญิง ชั้น ป.5 ทุกคนทั่วประเทศ
  • บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยวิธีตรวจหาเลือดแฝงในอุจาระ (Fit Test) สำหรับประชาชนอายุ 50–70 ปี จำนวน 1 ครั้งทุก 2 ปี กรณีผลตรวจผิดปกติจะได้รับการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องและการเก็บเนื้อเยื่อส่งตรวจ
  • บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก สำหรับประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไปปีละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีบริการตรวจค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ เพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีน ทั้งนี้เพื่อเป็นการค้นหาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงและเข้ารับการรักษาก่อนที่ภาวะโรคจะลุกลาม

ประชาชนผู้ถือสิทธิบัตรทอง สามารถเข้าถึงการรับบริการ ที่หน่วยบริการที่มีศักยภาพในการรักษามะเร็ง โดยยื่นบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด แสดงตนใช้สิทธิบัตรทองก่อนรับบริการทุกครั้ง

มะเร็ง 1

กรณีพบความผิดปกติก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิประโยชน์ได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และhttps://www.facebook.com/NHSO.Thailand” นายอนุชาฯ กล่าว

สำหรับในปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาภายใต้กองทุนบัตรทอง 291,400 ราย หรือ 1,785,882 ครั้ง โดยเข้ารับบริการตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ 65,011 ราย หรือ 69,619 ครั้ง และบริการเคมีบำบัด/รังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง (ผู้ป่วยใน/ผู้ป่วยนอก) 94,154 ราย หรือ762,343 ครั้ง เป็นต้น

นอกจ่ากนี้ ยังรวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยให้เข้าถึงยามะเร็ง ที่เป็นรายการในบัญชียา จ.(2) จากข้อมูลในช่วง 5 ปี (ปี 2561-2565) มีผู้ป่วยได้รับยามะเร็ง ดังนี้

  • ยาโดซีแทคเซล (Docetaxel) ใช้รักษามะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด 10,697 ราย
  • ยาเลโทรโซล (Letrozole) เพื่อรักษามะเร็งเต้านม 21,062 ราย
  • ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) รักษามะเร็งเต้านม 4,859 ราย
  • ยาอิมาทินิบ เมสิเลท (Imatinib mesylate) รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน 4,530 ราย
  • ยาดาซาทินิบ (Dasatinib) รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว 514ราย
  • ยาเออร์โลทินิบ (Erlotinib) รักษามะเร็งปอด จำนวน 3,138 ราย เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สปสช. ได้ดำเนินนโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” (Cancer anywhere) บริการหนึ่งในนโยบายเพื่อยกระดับผู้ถือสิทธิบัตรทอง ที่ได้เริ่มเมื่อ 1 มกราคม 2564 ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วเพิ่มขึ้น

ผลดำเนินการในช่วง 2 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2564-30 กันยายน 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม จำนวน 221,141 ราย หรือ 1,907,724 ครั้ง  โดยมีหน่วยบริการที่มีศักยภาพร่วมดูแล 186 แห่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo