General

ฝุ่น ‘PM2.5’ ทำผู้ป่วย ‘โรคทางเดินหายใจพุ่ง’ แค่ 3 สัปดาห์เดือน ม.ค. 9 หมื่นคนทั่วประเทศ

ฝุ่น ‘PM2.5’ ทำผู้ป่วย ‘โรคทางเดินหายใจพุ่ง’ แค่ 3 สัปดาห์เดือน ม.ค. 9 หมื่นคนทั่วประเทศ 60% เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว และเด็กเล็ก

นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับกทม. เพื่อรับมือปัญหา PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้

โดยได้กล่าวถึง ผลสำรวจจากกระทรวงสาธารณสุขในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง และโรคตาอักเสบ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนธันวาคม 2565 โดยผู้ที่เจ็บป่วยจากผลกระทบทางด้านอากาศประมาณ 110,000 คนทั่วประเทศ

โรคทางเดินหายใจ

3 สัปดาห์ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจพุ่ง 9 หมื่นคน

ช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ (เดือนมกราคม 2566) มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 90,000 คนทั่วประเทศ

ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีความเป็นห่วงประชาชน เนื่องจากการสำรวจการป้องกันตัวเองผ่าน 4Health_PM2.5 พบว่า 60% เป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงเด็กเล็ก ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีอาการน้อย เช่น เจ็บตา ตาแดง คันคอ น้ำมูกไหล ในส่วนของผู้ที่มีอาการรุนแรงมักมีอาการ เช่น หายใจลำบาก เหนื่อย แน่นหน้าอก แต่ยังไม่พบมากนัก

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการให้คำแนะนำกับพี่น้องประชาชนมาตลอดว่า ค่าฝุ่นระดับไหน ควรดูแลตัวเองอย่างไร

รวมถึงขอความร่วมมือผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หากอยู่ในพื้นที่สีส้มหรือสีแดงควรอยู่ที่บ้านจะปลอดภัยกว่า ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องทำงาน ก็อยากให้ work from home เพื่อความปลอดภัยเช่นกัน และควรใส่หน้ากากอนามัย N95 หรือหน้ากากอนามัยซ้อน 2 ชั้น

โรคทางเดินหายใจ

เตือนผู้มีโรคประจำตัว ประชาชนที่อยู่ในพื้ที่สีส้ม-แดง ต้องป้องกันตัวเอง

นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมรักษาประจำตัวไว้อยู่เสมอ หากพบว่ามีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นสามารถไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีสายด่วน 1478 หรือ แอปพลิเคชันของกระทรวงสาธารณสุขอย่าง 4Health_PM2.5 สามารถเข้ามาประเมินระดับความรุนแรงของอาการจากฝุ่น PM2.5 ก่อนได้ ซึ่งจะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนตามระดับอาการ ถ้าหากอาการรุนแรงจะมี link ไปที่คลินิกมลพิษออนไลน์

ทั้งนี้นายแพทย์เอกชัย เน้นย้ำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สีส้มหรือสีแดง ช่วยกันดูแลเป็นห้องปลอดฝุ่น ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน แนะนำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทำอย่างไรให้ปลอดฝุ่น รวมไปถึงห้องเรียนให้ปลอดฝุ่น เช่น ปิดหน้าต่างให้มิดชิด มีระบบพัดลมระบายอากาศ มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องคอยทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศเป็นประจำทุกเดือน

และที่สำคัญ อยากให้ทุกคนคอยเช็คสภาพอากาศก่อนออกนอกบ้านตามช่องทางต่างๆ เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง

โรคทางเดินหายใจ

คลินิกรักษาผุ้ป่วยโรคทางเดินหายใจ 5 แห่ง

ด้าน นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปีนี้กทม.ได้ขยายคลินิกอนามัย เพื่อรองรับผู้ป่วยมีอาการป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ จากเดิม 3 แห่งเป็น 5 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาและรองรับสถานการณ์ได้ คือ

  • คลินิกมลพิษทางอากาศ โรงพยาบาลกลาง
  • คลินิกมลพิษทางอากาศ โรงพยาบาลตากสิน
  • คลินิกมลพิษทางอากาศ โรงพยาบาล เจริญกรุงประชารักษ์
  • คลินิกมลพิษทางอากาศ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
  • คลินิกมลพิษทางอากาศ โรงพยาบาลสิรินธร

โรคทางเดินหายใจ

ประชาชนสามารถ เข้าใช้บริการได้ทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต้องระวังเป็นพิเศษ เช่น เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้มีโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน สามารถเข้ารับคำปรึกษาและการตรวจรักษาได้ทันที

พร้อมย้ำว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้นกทม. กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและปีนี้เป็นความร่วมมือที่จะประสานงานการส่งต่อข้อมูลเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้แก่ แอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซด์

http://www.airbkk.com

http://air4thai.pcd.go.th

http://www.pr-bangkok.com

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo