General

กทม. รับมือ ‘PM2.5’ สีแดง ปลายเดือนนี้ 11 บริษัทเอกชนเตรียม WFH เผยคนกรุงเผชิญฝุ่นพิษ ถึงเดือนเม.ย.

กทม. รับมือ ‘PM2.5’ สีแดง ปลายเดือนนี้ 11 บริษัทเอกชนเตรียม WFH เผยคนกรุงต้องเผชิญฝุ่นพิษจนถึงเดือนเม.ย.

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ร่วมกับกรมอนามัย และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย กทม. แบ่งแผนออกเป็น 3 ส่วนคือ

pm2.5

  1. การติดตามและแจ้งเตือนโดยการตั้งวอร์รูมแก้ปัญหา PM2.5
  2. การเปิด Traffy Fondue เพื่อรับแจ้งปัญหาจากประชาชน
  3. การพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้าเพื่อแจ้งเตือนประชาชนโดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การแก้ปัญหาจากต้นตอของฝุ่นพิษ เช่น ควันดำจากรถยนต์ การเผาชีวมวลจากการเกษตร การเผาในที่โล่ง และโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย

รวมถึงการรณรงค์ส่งเสริมความรู้และเน้นย้ำข้อควรปฏิบัติและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นพิษโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละออง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้ร่วมมือกันอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง ในกรุงเทพฯ ร่วมกัน

pm2.5

คนกรุงเผชิญฝุ่นพิษถึงเดือนเม.ย.

นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า การเกิดฝุ่น PM 2.5 เป็นวัฏจักรที่มักเกิดขึ้นในฤดูหนาว สำหรับในปีนี้กรมควบคุมมลพิษได้ติดตามแต่คาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน พบว่า ช่วงที่มีปัญหาเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม โดยปัญหาที่พบว่าในวันที่ 24 มกราคม เกิดพื้นที่สีส้มทั่วกรุงเทพฯ

และค่า PM2.5 จะเกินมาตรฐานอีกครั้งในวันที่ 27 มกราคม และจะเกิดพื้นที่สีส้ม สีแดงทั่วกรุงเทพฯ อีกครั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งปัญหานี้จะอยู่กับเราไปจนถึงเดือนเมษายน

โดยทางด้านอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา นี่เป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้ PM2.5 อาจจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจากสถิติที่ผ่านพบว่าเดือนที่มักจะมีความรุนแรงของฝุ่นพิษมากที่สุดคือเดือนกุมภาพันธ์

pm2.5

ดร.ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ได้กล่าวถึง 2 ปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่น ปัจจัยแรกได้แก่ เพดานลอยตัวของอากาศ โดยข้อมูลจากอุตุนิยมวิทยาพบว่าเพดานอากาศต่ำกว่า 500 เมตร ทำให้เกิดสถานการณ์ฝุ่นพิษ เนื่องจากเพดานอากาศจะสูงขึ้นในหน้าร้อน และเพดานอากาศจะต่ำลงในหน้าหนาว

และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือในช่วงวันที่ 31 มกราคม ถึง 1 กุมภาพันธ์ สถานการณ์มีโอกาสรุนแรงเหมือนวันที่ 24 มกราคม ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาได้ แต่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้คือปัจจัยที่สอง แหล่งกำเนิด เช่น การจราจร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในพื้นที่กรุงเทพ โรงงานอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน การเผาในที่โล่ง เราสามารถร่วมด้วยช่วยกันควบคุมได้

นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงแนวทางปฏิบัติของกทม.ว่า​ หากค่าฝุ่นพิษเพิ่มสูงขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ 3 ส่วน ได้แก่ เฝ้าระวังและแจ้งเตือน กำจัดต้นตอ และการแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพ

pm2.5

แก้ไขปัญหา 4 ระดับ ตามค่าฝุ่น

ซึ่งกทม.จะนำค่าระดับฝุ่นประกอบกับค่าการพยากรณ์ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อเป็นข้อมูลสถานการณ์และนำมาใช้ในการวางแผนการทำงาน เป็น 4 ระดับ

  • ระดับที่ 1 (ฟ้า) ค่าไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. จะใช้ 15 มาตรการ เช่น ตรวจไซด์ก่อสร้าง ตรวจโรงงาน ให้มีการฉีดพ่นน้ำเพื่อไม่ให้มีการฟุ้งกระจายของฝุ่น
  • ระดับที่ 2 (เหลือง) ค่า 37.6-50 มคก./ลบ.ม. จะมีการเพิ่มความเข้นข้นในการตรวจมากยิ่งขึ้น
  • ระดับที่ 3 (ส้ม) ค่า 51-75 มคก./ลบ.ม. จะมีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานงานขอความร่วมมือให้ทำงานแบบ Work From Home 60% รวมถึงลดงานและกิจกรรมที่เกิดฝุ่นละออง
  • ระดับที่ 4 (แดง) ค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. จะขอความร่วมทำงานแบบ Work From Home 100% เพราะเป็นการช่วยลดมลพิษได้เป็นอย่างมากรวมถึงการปิดโรงเรียน เป็นต้น

pm2.5

นอกจากนี้ หลังจากที่ กทม.ได้ตั้งวอร์รูมฝุ่นพิษ เผื่อแจ้งเตือนประชาชนในกรุงเทพฯ ให้รับมือกับสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งในวันที่ 27 มกราคม และวันที่ 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์นี้ จะมีค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

โดยปีนี้สภาพฝุ่นพิษ หนักและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุเพราะเพดานการลอยตัวของอากาศ ในกรุงเทพฯ ต่ำลง อาจส่งผลต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะต้องเจอสภาพอากาศในลักษณะนี้อีก

อ่านขาวเพิ่มเติม

Avatar photo