General

ทำความรู้จัก โรคชื่อแปลก-หายาก ‘โรคคนแข็ง’ โอกาสเกิด 1 ในล้าน!!

สถาบันประสาทวิทยา เผย “โรคคนแข็ง” เป็นโรคที่เป็นความผิดปกติของระบบประสาท มีผลต่อกล้ามเนื้อหดเกร็งส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการทรงตัว เกิดขึ้นได้ 1 ในล้าน

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคคนแข็ง หรือ Stiff-person syndrome (SPS) เป็นโรคทางระบบประสาทส่วนกลาง ในกลุ่มที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำงานผิดปกติ

โรคคนแข็ง

ทั้งนี้ ในภาวะปกติระบบภูมิคุ้มกัน มีหน้าที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย แต่เมื่อเกิดโรคภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดย้อนกลับมาทำลายเซลล์ของร่างกายตัวเอง มักพบได้น้อยมากประมาณ 1 ในล้านคน

สำหรับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในโรคนี้ คือ สารต่อต้านเอนไซม์กลูตามิกดีคาร์บอกซิเลส (anti-GAD antibody) ปกติเอนไซม์ GAD ในระบบประสาท จะทำหน้าที่หลักในการเปลี่ยนสารสื่อประสาท กลูตาเมต (Glutamate) ให้เป็น สารสื่อประสาทกาบ้า (GABA)

ขณะที่ กาบ้า มีหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเซลล์ที่มากเกินจำเป็น และอย่างเหมาะสม ดังนั้น เมื่อสารสื่อประสาทกาบ้ามีปริมาณลดลง ส่งผลให้เซลล์ไม่มีระยะเวลาพัก และทำงานตลอดเวลา จึงทำให้เกิดอาการผิดปกติ

โรคคนแข็ง1

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เซลล์ประสาทที่ได้รับผลกระทบ อยู่ที่เซลล์ประสาทสั่งการ (motor neuron) บริเวณไขสันหลัง เมื่อมีการทำงานมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็ง และกระตุกโดยเฉพาะที่หลังและต้นขา

อาการของโรค

ผู้ป่วยอาการนี้จะไวต่อการรับรู้สิ่งเร้า เช่น มีอาการสะดุ้ง หรือร่างกายกระตุกอย่างแรง เมื่อได้ยินเสียงดัง หากปล่อยให้โรคดำเนินมากขึ้น กล้ามเนื้อบริเวณนั้น จะถูกดึงรั้งจนหลังผิดรูปได้

นอกจากนี้ ยังพบการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ต่อเซลล์อื่นของร่างกายได้ เช่น ที่ตับอ่อน ไทรอยด์อักเสบ ภาวะซีด เกิดโรคด่างขาวที่ผิวหนัง เป็นต้น

โรคคนแข็ง

เมื่อถูกวินิจฉัยเป็นโรคนี้แล้ว จำเป็นที่จะต้องตรวจหาโรคอื่น ๆเช่น เนื้องอก อาจจะเป็นมะเร็งและสามารถกระตุ้นทำให้เกิดภูมิคุ้มกันแปรปรวน ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ แพทย์วินิจฉัยโดยการเจาะเลือดหรือน้ำไขสันหลัง และการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) เพื่อช่วยยืนยันโรค

วิธีการรักษาโรค

การปรับภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป และแพทย์จะรักษาตามอาการที่แสดงออกมา เช่น ลดอาการเกร็งและกระตุกของกล้ามเนื้อด้วยยาในกลุ่ม เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) หรือ บาโคลเฟน (Baclofen) เมื่อเป็นแล้วก็ควรรีบเข้ารับการรักษา โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยโดยแพทย์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo