General

อนามัยโพล ระบุ ประชาชน 69% กังวล ‘PM2.5’ จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก

อนามัยโพล ระบุ ประชาชน 69% กังวล ‘PM2.5’ จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก และทำให้โรคประจำตัว มีอาการรุนแรงขึ้น กรมอนามัยจับมือเครือข่าย เสริมความรู้ป้องกัน

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการเป็นประธานการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “เตรียมพร้อม รับมือ ป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก” ณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย

ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นละอองเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ เนื่องจากสภาพอากาศที่ปริมาณฝนลดลงรวมถึงกิจกรรมของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางและเตรียมพื้นที่การเกษตรกลับเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมทั้งมีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 สถานการณ์ฝุ่นอาจมีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากอากาศเย็นและปริมาณฝนน้อย ดังนั้น ประชาชนควรทราบสถานการณ์และวิธีการป้องกันตนเองที่ถูกต้อง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ

PM2.5

ประชาชนส่วนใหญ่ กังวลเรื่องผลต่อสุขภาพ

จากผลการสำรวจอนามัยโพล (25 พฤศจิกายน – 16 ธันวาคม 2565) เรื่อง “ท่านเตรียมตัวรับมือกับฝุ่น PM2.5  อย่างไร” พบว่า

ประชาชนกว่า 69% มีความวิตกกังวลกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5  โดย 3 อันดับแรก คือ กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเล็กในระยะยาว 52.% ทำให้โรคประจำตัวมีอาการรุนแรงมากขึ้น 44.5% และไม่มีอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น 25.1%

PM2.5

และยังพบว่าในช่วงก่อนเกิดปัญหาฝุ่นพิษ ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีการเตรียมตัวดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว  ด้วยการเตรียมหน้ากากป้องกันฝุ่น 82.6% ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง 71.2% รวมถึงทำความเข้าใจระดับค่าสี PM2.5 และคำแนะนำในการปฏิบัติตน 59.8%

ข้อมูลที่ประชาชนต้องการทราบมากที่สุด คือ อาการและผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก  66.5% รองลงมา คือ ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น  58.7% และคำแนะนำการดูแลสุขภาพเมื่อค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 58.6%

PM2.5

ให้ความรู้กับประชาชน ถึงมาตรการรับมือ

กรมอนามัยจึงจัดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “เตรียมพร้อม รับมือ ป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก” ขึ้น  เพื่อยกระดับความรอบรู้ของประชาชนในการป้องกันและดูแลสุขภาพของตนเองจากฝุนละอองขนาดเล็ก ลดความวิตกกังวล และเป็นแกนนำในการสื่อสาร บอกต่อ ให้คำแนะนำกับคนรอบข้าง

โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มาให้ความรู้ เรื่อง ผลกระทบต่อสุขภาพและวิธีการป้องกันตนเองจากฝุ่น ผศ.ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เรื่อง การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อลดกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น  และนายแพทย์ชลพันธ์ ปิยภาวรอนันต์ กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย เรื่อง การออกกำลังกาย เพื่อส่งเสริมให้สุขภาพแข็งแรงในช่วงที่ฝุ่นสูง

PM2.5

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ประชาชนควรติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอยู่เสมอด้วยการเช็กค่าฝุ่น จากแอปพลิเคชัน Air4Thai หรือที่ เว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th ของกรมควบคุมมลพิษ และเฝ้าระวังสุขภาพตนเองได้ที่เว็บไซต์ https://4health.anamai.moph.go.th ของกรมอนามัย

PM2.5

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo