General

‘เรือหลวงสุโขทัย’ ผิดพลาดอะไร ทำไมอับปางเพราะคลื่นลมทะเล

ผ่านมาแล้ว 3 วัน กับเหตุ “เรือหลวงสุโขทัย” อับปางกลางทะเล เพราะคลื่นลมทะเล โดยกองทัพเรือยังเดินหน้าค้นหาลูกเรือที่สูญหาย ด้วยการเสริมกำลังเรือหลวงจำนวน 4 ลำ โดยมีเรือหลวงอ่างทอง เป็นเรือควบคุมสั่งการ

หนึ่งในข้อสังเกตกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ที่ผู้บัญชาการทหารเรือออกมายอมรับ คือ เรื่องเสื้อชูชีพกำลังพลบนเรือ สอดคล้องกับคำให้การของกำลังพล ผู้ได้รับการช่วยเหลือชุดแรก

เรือหลวงสุโขทัย

เกิดอะไรขึ้น

คืนวันที่ 18 ธ.ค. กองทัพเรือ ระบุว่า เรือหลวงสุโขทัย ประสบเหตุ “เรือมีอาการเอียง” เนื่องจากคลื่นลมแรง มีน้ำทะเลไหลเข้าระบบเครื่องไฟฟ้า ทำให้ไฟฟ้าดับ เครื่องจักรใหญ่หยุดทำงาน ควบคุมเรือไม่ได้ และน้ำเข้าภายในตัวเรืออย่างรวดเร็วจนเรือเอียง โดยภาพที่เผยแพร่บนสื่อทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กของ ทร. เป็นภาพเหตุการณ์ในเวลากลางวัน

เหตุเกิดขึ้น ขณะเรือหลวงสุโขทัย ขณะลาดตระเวนระยะ 20 ไมล์ จากท่าเรืออำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขณะนั้นมีกำลังพล 106 นายบนเรือ โดยรายงานจากสื่อมวลชนระบุว่า เรือหลวงสุโขทัย กำลังกลับไปยังฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หลังจากพยายามเข้าจอดเทียบท่าเพื่อร่วมกิจกรรมองค์บิดาของทหารเรือไทย ที่ จังหวัดชุมพร

เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงภูมิพล เรือหลวงกระบุรี เฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ลำ พร้อมชุดป้องกันความเสียหาย ถูกส่งเข้าไปช่วยกู้สถานการณ์ โดยเรือหลวงกระบุรี เป็นลำแรกที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุ โดยมีรายงานว่าถึงจุดเหตุเวลา 20.40 น. และพยายามเข้าเทียบเรือหลวงสุโขทัย เพื่อส่งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่และช่วยเหลือกำลังพล แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากคลื่นลมยังคงรุนแรง

หลังจากพยายามกู้เรือเป็นเวลาหลายชั่วโมง ทร. ระบุว่า ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้เนื่องจากคลื่นลมแรงมาก ทำให้เรือหลวงสุโขทัยจมลงเวลา 23.30 น.

บีบีซี สอบถามไปยังกองทัพเรือไทยว่า กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นไหมในประวัติศาสตร์กองทัพเรือ โดย พล.ร.อ. ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ระบุว่า ในกองทัพเรือแทบจะเกิดขึ้นกับเรือที่ยังใช้งานอยู่น้อยมาก โดยขณะนี้ กำลังจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่า เหตุใดเรือจึงจมลงได้

เรือหลวงสุโขทัย หมายเลขประจำเรือ FSG-442 เป็นเรือคอร์เวตต์ สังกัดกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2530 นับว่าเป็น 1 ใน 10 ลำเรือของกองเรือฟริเกตที่ 1 ซึ่งมีภารกิจเป็นกองเรือปราบเรือดำน้ำ

เว็บไซต์ของกองเรือยุทธการ ระบุศักยภาพของเรือหลวงสุโขทัยว่า ได้รับการติดตั้งระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย มีขีดความสามารถและประสิทธิภาพสูง พร้อมปฏิบัติการรวบได้ทั้ง 3 มิติ ในเวลาเดียวกัน คือ การป้องกันภัยทางอากาศ สงครามผิวน้ำ และสงครามปราบเรือดำน้ำ

เรือหลวงสุโขทัย

ประสบเหตุช่วงคลื่นลมแรงในอ่าวไทย

เหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัย ประสบเหตุอับปางจากผลกระทบของคลื่นลมทะเล เกิดขึ้นในช่วงที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย ระหว่างวันที่ 17-20 ธันวาคม 2565 คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร

ประกาศกรมอุตุฯ ออกมาฉบับแรกเมื่อ 14 ธันวาคม ขณะที่ประกาศฉบับที่ 8 เมื่อ 18 ธันวาคม ยังเตือนถึงคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทยในระดับเดิม

ในช่วงระหว่างวันที่ 17-18 ธันวาคม ปรากฏข่าว เรือสินค้าขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า เรือสันทัดสมุทร 2 บรรทุกตู้สินค้า บรรจุไม้ยางพาราจำนวน 36 ตู้และลูกเรือ 9 คน อับปางบริเวณทะเลอ่าวบ้านดอน อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะมุ่งหน้าท่าเรือแหลมฉบัง และเรือบรรทุกน้ำมัน เกยตื้นที่แหลมสมิหลา อำเภอเมืองสงขลา ใกล้กับปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลา

เหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอัปปาง ทำให้ อนาลโย กอสกุล แอดมินของเว็บไซต์ รวมข้อมูลข่าวสารด้านอาวุธ และกองทัพฉบับประชาชนที่ชื่อว่า “ไทยอาร์มฟอร์ซ”  ThaiArmedForce.com (TAF) ตั้งข้อสังเกตถึง การประเมินความเหมาะสมของสภาพอากาศก่อนเดินทาง เมื่อเทียบกับขนาดและศักยภาพของเรือในการเดินเรือท่ามกลางคลื่นลมระยะนี้

“เรือลำนี้ไม่ใช่เรือที่ใหญ่มาก เรียกว่าระวางขับน้ำ ไม่ถึง 1,000 ตัน ทนทะเลได้ไม่ค่อยมาก ไม่รู้ว่า ตอนออกเรือ เช็คข่าวอากาศหรือเปล่า เพราะสังเกตว่าช่วงนี้มีเรือสินค้าล่ม และติดฝั่ง 2-3 ลำ”

ด้านคาร์ล สคุสเตอร์ กัปตันกองทัพเรือสหรัฐที่เกษียณแล้ว บอกกับซีเอ็นเอ็นว่า ลูกเรือไทยเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากมาก กับการนำเรือฝ่าสภาพอากาศที่เลวร้าย

“เมื่อคุณสูญเสียกระแสไฟฟ้า คุณอยู่กลางความมืด ต้องทำทุกอย่างด้วยเครื่องปั๊มน้ำ และถังน้ำ สำหรับเรือขนาดเล็ก อายุใช้งานเกือบ 40 ปี ในทะเลที่คลุ้มคลั่ง โอกาสเรือจมมีมากกว่า ที่จะฝ่าพายุไปได้สำเร็จ”

เรือหลวงสุโขทัย

ตั้งคำถามถึงการซ่อมบำรุง

ในการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2565 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการฝึกยิงตอร์ปิโด MK 46 เพื่อทดสอบระบบควบคุมการยิง และศักยภาพของลูกตอร์ปิโด ทดสอบความพร้อมของหน่วยยิง โดยทำการฝึกที่บริเวณอ่าวไทยตอนล่างใกล้เกาะพะงัน โดยในครั้งนั้น เรือหลวงสุโขทัย ทำหน้าที่เป็นเรือยิงหลัก และเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรือยิงสำรอง

แอดมินเว็บไซต์ไทยอาร์มฟอร์ซ กล่าวว่า ด้วยอายุของเรือหลวงสุโขทัย หากเทียบกับกองทัพต่างประเทศ ถือว่ามีอายุมาก “แต่ถ้าในกองทัพไทย ถือว่าเป็นวัยกลางคน จากอายุเฉลี่ยการใช้งาน 40-50 ปี”

อย่างไรก็ตาม การสูญเสียเรือหลวงสุโขทัย ครั้งนี้ อนาลโย วิเคราะห์ว่า ไม่น่าจะกู้ขึ้นมาซ่อมแซมได้แล้ว ถือเป็นการสูญเสียกำลังรบลำดับต้น ๆ ในจำนวนไม่กี่ลำที่ทำการรบได้ทั้งในอากาศ ผิวน้ำ และใต้น้ำ

“การเสียเรือไปหนึ่งลำ เท่ากับเสียกำลังรบชั้นดีที่สุดของเมืองไทยไปหนึ่งในห้า จะเหลือเรือผิวน้ำ แค่ 4 ลำ ที่มีขีดความสามารถระดับนี้”

เขายังตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะที่น้ำทะลักเข้าเรือว่า มีการจำกัดความเสียหายขณะพบว่าน้ำทะลักเข้าเรือหรือไม่อย่างไร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo