General

สะพรึง!! ‘หมอมนูญ’ เตือน เหงือก-รากฟันอักเสบ หนึ่งในสาเหตุเกิด ‘โรคฝีในปอด’

“หมอมนูญ” เผยเคสผู้ป่วยชาย ร่างกายแข็งแรง ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ป่วยเป็นโรคฝีในปอด เหตุจากเชื้อแบคทีเรียอาศัยอยู่ในเหงือก-รากฟันที่อักเสบ ปนน้ำลายไหลลงปอด

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC เตือนโรคฝีในปอด อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่อาศัยอยู่ในเหงือกและรากฟันที่อักเสบ ปนกับน้ำลาย ไหลลงไปในหลอดลม โดยระบุว่า

โรคฝีในปอด

โรคฝีในปอด (Lung abscess) บางรายเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่เจริญได้ในภาวะที่ไม่มีออกซิเจน (anaerobic bacteria) อาศัยอยู่ในเหงือกและรากฟันที่อักเสบ ปนกับน้ำลาย ไหลลงไปในหลอดลม และทำให้เกิดฝีในปอด รักษาโดยการใส่ท่อระบายหนองจากฝีในปอด และให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อชนิดนี้

ผู้ป่วยชายไทยอายุ 46 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 เริ่มเจ็บหน้าอกข้างซ้าย หายใจลำบาก ไม่ค่อยไอ แต่เวลาไอจะเจ็บหน้าอก ไม่มีไข้ เอกซเรย์ปอดวันนั้นปกติ

หมอมนูญ
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

วันที่ 9 พฤศจิกายน ยังเจ็บหน้าอก ไปทำเอกซเรย์ปอดซ้ำ ครั้งนี้พบฝ้าขาวในปอดด้านซ้าย ได้ยาปฏิชีวนะ azithromycin กินแล้วไม่ดีขึ้น

มาปรึกษาวันที่ 17 พฤศจิกายน หลังจากเจ็บหน้าอกข้างซ้าย 20 วัน เมื่อสอบถามผู้ป่วยยอมรับว่า เจ็บฟันข้างขวาล่างเล็กน้อย ก่อนเจ็บหน้าอก

ตรวจร่างกายมีไข้ต่ำ ๆ 37.5 องศาเซลเซียส ฟังปอดข้างซ้ายได้ยินเสียงลดลง เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวบริเวณปอดด้านซ้าย (ดูรูป) ได้ทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด พบลักษณะคล้ายฝีในปอดข้างซ้าย (ดูรูป)

ปอด1

เจาะเลือดเม็ดเลือดขาวในเลือดสูง 12,530 ผู้ป่วยได้รับการใส่ท่อระบายหนองจากฝีในปอดข้างซ้าย พบหนองสีน้ำตาล 20 ซีซี ย้อมพบเชื้อแบคทีเรียแกรมลบรูปร่างเป็นแท่ง (gram negative bacilli) ไม่พบเชื้อวัณโรค ไม่พบเชื้อรา เพาะเชื้อขึ้นแบคทีเรียที่เจริญได้ในภาวะที่ไม่มีออกซิเจนเท่านั้น (anaerobic bacteria) Fusobacterium nucleatum และเชื้อแบคทีเรียอีก1 ตัวไม่ทราบชื่อ

ผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด ceftriaxone และ clindamycin อาการเจ็บหน้าอกค่อย ๆ ดีขึ้น สามารถถอดท่อระบายหนองออกจากฝีในปอดข้างซ้ายได้ใน 2 วัน

ได้ปรึกษาทันตแพทย์ตรวจช่องปากและฟัน ส่งเอกซเรย์รากฟัน พบติดเชื้อแบคทีเรียในรากฟัน ต้องถอนฟัน 2 ซี่ ได้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด 2 สัปดาห์ เอกซเรย์ปอดดีขึ้นช้า ๆ (ดูรูป) ให้ยาปฏิชีวนะไปกินต่อที่บ้านอีก 4 สัปดาห์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo