COVID-19

รอลุ้น ยาต้านไวรัส ‘แพ็กซ์โลวิด’ ลดการเสียชีวิต-ลองโควิด โดยเฉพาะยุคโอไมครอนกลายพันธุ์

“หมอนิธิพัฒน์” เผยผลวิจัยสหรัฐการใช้ยาต้านไวรัส “แพ็กซ์โลวิด” ช่วยลดการเสียชีวิต การเกิดลองโควิด แต่ต้องรอการยืนยันผลวิจัยจากผู้เชียวชาญ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ลุ้นยาต้านไวรัส แพ็กซ์โลวิด สู้โอไมครอนกลายพันธุ์ โดยระบุว่า

ยาต้านไวรัส

ดีใจได้สองสัปดาห์ ท่าทางสถิติโควิดสัปดาห์นี้จะพุ่งขึ้นเหมือนกับทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียที่มีการเปิดประเทศกันมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยตกค้างรอเตียงที่บ้านริมน้ำเริ่มมีสะสมใหม่ พร้อมคนใกล้ตัวที่ยังไม่เคยติดเริ่มไม่รอด ช่วงนี้ระมัดระวังตัวกันด้วย

อย่าปล่อยเนื้อปล่อยตัวกันมากเกินไป

แม้ว่าความชุกและความรุนแรงของลองโควิดจะซาลงไปมากในยุคโอไมครอน จะด้วยตัวเชื้อเองหรือจากภูมิคุ้มกันที่เรามีทั้งทางตรง (ติดเชื้อ/ป่วย) หรือ ทางอ้อม (วัคซีน) ประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนคือการได้รับยาต้านไวรัสมีผลหรือไม่

ทีมนักวิจัยจากสหรัฐ ได้วิเคราะห์ข้อมูลของเครือข่ายสุขภาพใหญ่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนปีนี้ ในกลุ่มคนที่ติดโควิด แล้วแพทย์ให้รักษาตัวนอกโรงพยาบาล แต่มีปัจจัยเสี่ยงโรคลุกลามรุนแรงอย่างน้อยหนึ่งข้อ โดยมี 9,217 คนได้รับยาแพ็กซ์โลวิด เทียบกับอีก 47,123 คนที่ไม่ได้รับ

ผู้วิจัยพยายามใช้วิธีการทางสถิติที่ซับซ้อน ถ่วงน้ำหนักของทั้งสองกลุ่มให้มีลักษณะทางกายภาพและข้อมูลพื้นฐานทางการแพทย์ในอดีตที่ใกล้เคียงกัน

โควิด 1

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับยา สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงมาได้ 48% และเกิดปัญหาสุขภาพภายหลังโควิดน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ยา 26% ซึ่งปัญหาสุขภาพนั้นมีทั้งของเดิมกำเริบและของใหม่แทรกซ้อน ซึ่งบางส่วนจัดเป็นลองโควิด (นิยามลองโควิดยังไม่ชัดเจนสำหรับการวินิจฉัยโดยแพทย์)

ประโยชน์ที่ได้นี้ไม่เกี่ยวข้องว่าได้หรือไม่ได้วัคซีนหรือได้มากี่เข็ม และไม่เกี่ยวว่าเป็นการติดเชื้อครั้งแรกหรือการติดเชื้อซ้ำ

ปัญหาสุขภาพในการศึกษานี้มี 12 ข้อ ยาช่วยลดได้ 10 ข้อคือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ, หัวใจขาดเลือด, หลอดเลือดดำอุดตัน, ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดแดงปอด, อ่อนเพลียเหนื่อล้า, โรคตับ, โรคไตเฉียบพลัน, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, ความจำไม่ดี, และ เหนื่อยง่าย ส่วนอีก 2 ข้อที่ยาช่วยลดไม่ได้ คือ เบาหวานที่เกิดขึ้นใหม่ และ อาการไอ

อย่างไรก็ตาม คงต้องฟังหูไว้หู เพราะการศึกษานี้เผยแพร่ในแวดวงวิชาการ โดยยังไม่มีการวิเคราะห์วิจารณ์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่นำข่าวมาโพนทะนาก็เป็นบริษัทผู้ผลิตยานั้นเอง อาจหวังผลกระตุ้นยอดการใช้ยา เพราะในกลุ่มประชากรที่ศึกษานี้มีการได้รับยาไม่ถึง 20% ซึ่งตัวเลขไม่ต่างจากในภาพรวมของอเมริกาทั้งประเทศ

shutterstock 2082724636 1

กลุ่มคนที่แพทย์สั่งยาในการศึกษานี้ อาจเป็นกลุ่มที่ทั้งแพทย์และตัวผู้ป่วยเองคิดว่าต้นทุนสุขภาพไม่ดีมาก ซึ่งทราบกันดีว่ามีโอกาสเกิดลองโควิดได้สูง อีกทั้งกลุ่มที่ไม่ได้รับยาแพ็กซ์โลวิดจากการเบิกจ่ายในระบบสุขภาพนี้ อาจได้รับยามาใช้ในช่องทางอื่น นอกจากนี้ตัวแปรทั้ง 12 ข้อนั้น มีไม่ถึงครึ่งที่ตรงกับกลุ่มอาการลองโควิดในการศึกษาอื่น ๆ

สรุปแล้วในช่วงต้นของยุคโอไมครอน การได้รับยานี้ในกลุ่มคนเปราะบางตามข้อบ่งชี้ นอกจากช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง ยังอาจช่วยลดกลุ่มอาการลองโควิดลงมาได้บ้าง โดยไม่มีผลของการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อในอดีตเข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่ในช่วงหลังของยุคโอไมครอนที่สายพันธุ์เปลี่ยนไป ต้องรอข้อมูลว่าผลดีที่ว่านี้จะยังหลงเหลืออยู่เท่าไร และจะมีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายเพียงใด

การลงทุนที่คุ้มค่าและทำได้ง่ายกว่า คือระมัดระวังตัวไม่นำเชื้อกลับเข้าบ้านไปให้คนกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะการใส่หน้ากากในที่สาธารณะ ซึ่งผู้คนแออัดและมีการระบายอากาศไม่เพียงพอ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo