COVID-19

บันทึกครบ 1,000 วัน โควิด-19 ประเทศไทย ‘หมอเฉลิมชัย’ ทบทวนครบทุกประเด็น ที่นี่!!

“หมอเฉลิมชัย” บันทึกไว้ครบ 1,000 วันโควิด-19 ประเทศไทย สรุปเรื่องสำคัญ ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน 11 ประเด็น ที่นี่ เช็คเลย

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย เรื่อง ครบ 1,000 วันของโควิด-19 ประเทศไทย แล้ว สรุปเรื่องสำคัญที่ควรทราบ ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน โดยระบุว่า

โควิด-19 ประเทศไทย

นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยพบโควิดเคสแรกเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบัน (3 ตุลาคม 2565) นับได้เป็นเวลา 1,000 วันเต็มแล้ว เราจะลองมาทบทวนดูเรื่องราว โควิด-19 ประเทศไทย ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรบ้าง

1. ชื่อโรคและชื่อเชื้อโรค

ชื่อโรคคือ COVID-19 (Corona Virus Disease 2019)

ชื่อเชื้อโรคคือ SARS-CoV-2 (Severe Acute Respiratory Syndrome-Corona Virus) เป็นไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7

2. จุดกำเนิดของผู้ติดเชื้อ

31 ธันวาคม 2562 พบเคสแรกของโลกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน

8 มกราคม 2563 พบเคสแรกของประเทศไทย เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากจีน

shutterstock 2039899550

3. ช่วงสองเดือนแรกของการระบาด พบว่า ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หรือเมื่อโควิดระบาดได้ครบสองเดือน พบว่าประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งกำเนิด มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 79,251 ราย เสียชีวิต 3.58% ส่วนประเทศในอีกสี่ลำดับถัดมา ได้แก่ เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน และญี่ปุ่น

4. มาตรการรับมือแบบต่างๆของโควิด-19 ในปี 2563 มี 3 มาตรการด้วยกัน ได้แก่

4.1 ไม่ทำอะไร (Unmitigation) ปล่อยให้มีการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยหวังว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) แล้วโรคจะสงบลงเอง

4.2 ชะลอผู้ติดเชื้อ (Mitigation) โดยปล่อยให้มีผู้ติดเชื้อในระดับที่สาธารณสุขสามารถรับมือไหว แต่ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

4.3 เข้มข้นสูงสุด (Suppression) ต้องเมีมาตรการล็อกดาวน์ (Lockdown) หรือปิดเมืองปิดประเทศ ซึ่งจะคุมจำนวนได้ดี แต่ผลกระทบโดยเฉพาะทางสังคมและเศรษฐกิจรุนแรง

เฃนพ.เฉลิมชัย

5. คลื่นระลอกต่าง ๆ ของโควิดในไทย

5.1 ระลอกแรก เกิดขึ้นในช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 เป็นไวรัสอู่ฮั่น(Clade S) เริ่มจากสนามมวยลุมพินีและผับบาร์ทองหล่อเป็นคลัสเคเตอร์ใหญ่ มีผู้ติดเชื้อ 4,000 ราย เสียชีวิต 60 ราย ควบคุมโรคโดยใช้มาตรการล็อกดาวน์

5.2 ระลอกที่สอง เกิดขึ้นในช่วงธันวาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564 ยังคงเป็นไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น (Clade GH) เริ่มที่ตลาดกลางค้ากุ้งมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อ 24,863 ราย เสียชีวิต 34 ราย

5.3 ระลอกที่สาม เกิดขึ้นในช่วงเมษายนถึงธันวาคม 2564 เริ่มต้นด้วยไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า (Clade GK) แล้วตามด้วยไวรัสสายพันธุ์เดลต้า (Clade GRY) โดยจุดเริ่มต้นจากแคมป์คนงานหลักสี่ มีผู้ติดเชื้อมากถึง 2,194,572 ราย เสียชีวิต 21,604 ราย

5.4 ระลอกที่สี่ เกิดขึ้นในช่วงมกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน (3 ตุลาคม 2565) เป็นไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน (Clade GRA) จนถึงขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อ 2,458,697 ราย เสียชีวิต 11,073 ราย

โควิด

6. ลักษณะของไวรัส

ปัจจุบันพบว่าใน โควิด-19 ประเทศไทย ไวรัสสายพันธุ์หลักได้แก่ โอไมครอน ซึ่งมีการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ย่อย (Sub-variant) จาก BA.1 เรื่อยมาจนปัจจุบันเป็น BA.5 ซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดที่กว้างขวางรวดเร็วกว่าเดลต้านับเป็นเท่าตัว ขณะเดียวกันก็มีความรุนแรงก่อให้เกิดการเสียชีวิต น้อยกว่านับเป็นเท่าตัวด้วยเช่นกัน

7. สถานการณ์ปัจจุบัน

ในระดับโลก มีการระบาดครอบคลุมไปแล้ว 228 ประเทศและเขตการปกครอง พบผู้ติดเชื้อ 623 ล้านราย เสียชีวิต 6.5 ล้านราย คิดเป็น 1.05%

ในระดับประเทศไทย มีการระบาดจนครบ 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ (เฉพาะพีซีอาร์) 4.68 ล้านราย เสียชีวิต 32,771 ราย คิดเป็น 0.7%

8. การตรวจหาไวรัส

8.1 วิธี RT-PCR เป็นวิธีการตรวจแบบมาตรฐาน มีความแม่นยำสูง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งต้องใช้บุคลากรทางสาธารณสุขที่ได้รับการฝึกฝนในการเก็บตัวอย่างและดำเนินการทางห้องปฏิบัติการ

8.2 วิธี ATK เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้น มีความแม่นยำค่อนข้างดี แต่ไม่เท่ากับวิธี RT-PCR แต่ค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก และไม่ต้องใช้บุคลากรทางสาธารณสุข ประชาชนสามารถทำเองที่บ้านได้

LINE ALBUM Covid atk สถานที่ต่างๆ ๒๒๐๔๒๖ 0

8.3 วิธี Genomic Sequencing เป็นการตรวจสารพันธุกรรม เพื่อหาชนิดของไวรัส

9. วัคซีน

โลกใช้เวลาวิจัยและพัฒนาแบบเร่งด่วนที่สุดประมาณ 11 เดือน ก็ได้วัคซีนซึ่งมีหลากหลายเทคโนโลยีและหลากหลายบริษัท

จนถึงปัจจุบันพบว่า ทุกวัคซีนมีผลข้างเคียงหรือความปลอดภัยที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ คือฉีดเข็มแรกด้วยวัคซีนชนิดหนึ่ง และเข็มถัดไปเป็นวัคซีนอีกชนิดหนึ่ง ได้ผลดีมาก ทำให้มีระดับภูมิคุ้มกันขึ้นสูง

วัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster) ขณะนี้ใช้วัคซีนเทคโนโลยี mRNA เป็นหลัก

ไทยได้ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 143 ล้านโดส โดยเป็นเข็มที่หนึ่ง 82% เข็มที่สอง 77% และเข็มที่สาม 46%

มีความก้าวหน้าของวัคซีน จนจีนสามารถพัฒนาวัคซีนชนิดสูดทางปากได้สำเร็จ และอินเดียพัฒนาวัคซีนชนิดพ่นจมูกได้สำเร็จ

วัคซีน 3

สหรัฐอเมริกาโดยบริษัท Moderna ได้พัฒนาวัคซีนรุ่นที่สองหรือเจนเนอเรชั่นที่สอง จดทะเบียนแล้วที่ประเทศอังกฤษ

การฉีดวัคซีนในปัจจุบัน สามารถฉีดในเด็กตั้งแต่อายุหกเดือนขึ้นไปได้

10. ยารักษาโรค

ในช่วงแรกยังไม่มียาต้านไวรัสก่อโรคโควิดโดยตรง ไทยได้ใช้สมุนไพรฟ้าทลายโจร , Favipiravir และ Remdesivir เป็นยาที่รักษาได้ผลดี

ในปัจจุบัน มียาต้านไวรัสสองชนิดคือ Molnupiravir และ Paxlovid ทั้งสองชนิดพบว่าได้ผลดี แต่ก็มี Rebound คือเชื้อไวรัสลดระดับจนเป็นลบ แล้วกลับเพิ่มขึ้นมาใหม่ได้

11. สถานการณ์โควิดของไทยในภาพรวม ณ ปัจจุบัน

ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ. 2558 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ โควิด-19 เปลี่ยนจากโรคติดต่ออันตราย มาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

พร้อมกับมีการยกเลิกประกาศการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินและยกเลิกศบค. ส่งผลให้การรายงานสถิติต่างๆรายวัน เปลี่ยนเป็นรายงานรายสัปดาห์

shutterstock 1958550172

ในส่วนของการตรวจวินิจฉัยโรคและการรักษาพยาบาล ยังคงได้รับการบริการจากรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่นเดียวกับโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังอื่นๆ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ไข้เลือดออก มาลาเรีย เป็นต้น

มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทางเศรษฐกิจและทางสังคมมากขึ้น แต่ยังจำเป็นจะต้องระมัดระวังมีวินัยในมิติทางด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมาระบาดใหม่ จนอาจจะกระทบมิติเศรษฐกิจและมิติสังคมอีกครั้ง

โดยยังคงต้องใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่เสี่ยงและกิจกรรมเสี่ยง ตลอดจนควรรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง 608 ต่อไป

ก็หวังว่า โควิด-19 จะค่อยลดความรุนแรงและความสามารถในการแพร่ระบาดลงเป็นลำดับ จนกลายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ที่อาจจะเป็นประจำฤดูกาลต่อไป

ทั้งนี้จะเกิดขึ้นได้จริง ถ้าไวรัสโคโรนา ไม่มีการกลายพันธุ์ (Mutation) ครั้งใหญ่ จากสายพันธุ์หลักโอไมครอน ไปเป็นสายพันธุ์พาย(Pi) ซึ่งเป็นอักษรกรีกลำดับ 16 ที่องค์การอนามัยโลกเตรียมตั้งชื่อไว้สำหรับการเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo