COVID-19

เตรียมพร้อมยุคหลังโควิด ‘หมอนิธิพัฒน์’ แนะวิธีเลือกเครื่องฟอกอากาศ ตัวช่วยสู้โควิด-PM2.5

“หมอนิธิพัฒน์” หวังตุลาคม โควิดลดถึงเป้าหมาย แนะวิธีเลือกเครื่องฟอกอากาศ ควรใช้แบบไหนสู้โควิด-PM2.5 เช็คเลย

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ถึงวิธีการเลือกเครื่องฟอกอากาศ เพื่อป้องกันโควิด PM2.5 โดยระบุว่า

เลือกเครื่องฟอกอากาศ

เป็นไปตามคาด สาวนักตบไทยคว้าชัยสองนัดติดในสองวัน คงเหลือนัดสุดท้ายวันพรุ่งนี้กับทีมจากโดมินิกัน เพื่อลุ้นตำแหน่งที่ 2 ถึงตำแหน่งที่ 4 ของสายเพื่อการเข้ารอบต่อไปที่แน่นอนแล้ว

สถิติในภาพรวมของประเทศยังคงดีต่อเนื่อง หวังว่าสัปดาห์หน้า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ตรวจเอทีเค แล้วรายงานเข้าระบบ ระหว่างช่วงวันที่ 25 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม จะลงไปต่ำกว่าเจ็ดหมื่นได้

นั่นหมายถึงว่า ขึ้นเดือนตุลาคมเราได้หมุดหมายที่ผู้ติดเชื้อรายวันไม่เกิน 10,000 คน ผู้ป่วยอาการหนักสะสมในแต่ละวันไม่เกิน 500 คน และผู้เสียชีวิตไม่เกินวันละ 10 คน

นี่กำลังจะเข้าสู่ยุคเตรียมตัวหลังโควิดในวันพรุ่งนี้แล้ว และอีกสี่วันก็จะเสร็จสิ้นเทศกาลกินเจ พร้อมกับพายุฝนที่น่าจะหมดไปในช่วงปลายเดือนนี้ จากนั้นก็จะเข้าสู่ห้วงเวลาของ PM2.5 ประจำปี

หลายท่านคงมองหาเครื่องฟอกอากาศสำหรับใช้ในอาคาร เล็งผลใช้ป้องกันภัยร้ายสองตัว ทวินแอ็คชั่นที่จะมาคู่กันในปลายปีนี้ต่อต้นปีหน้า ทั้งไวรัสตัวจิ๋วนำโรคโควิด และฝุ่นจิ๋วนำโรคปอดจากการระคายเคือง เราจะมีวิธีเลือกกันอย่างไร

นิธิพัฒน์

อนุภาคในที่พักอาศัยปัจจุบันของคนเรานั้น เรียงจากใหญ่ไปเล็ก ได้แก่ ละอองเกสรพืช เส้นใยธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์ เชื้อรา ฝุ่นละอองทั่วไป สะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง เชื้อแบคทีเรีย ฝุ่นควันจากการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้งและเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ฟุ้งเข้ามาจากนอกที่พัก ฝุ่นควันจากการเผาไหม้ในที่พักและการสูบบุหรี่ และ เจ้าตัวเล็กสุดคือเชื้อไวรัส

นอกจากนี้ ยังมีก๊าซที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกหลายชนิด ซึ่งเกิดจากสารเคมีในวัสดุตกแต่งบ้านทและเครื่องใช้ในครัวเรือน รวมถึงที่เป็นผลจากการเผาไหม้ในที่พัก และการฟุ้งเข้ามาจากมลพิษในอากาศภายนอก

เครื่องฟอกอากาศชนิดเคลื่อนย้ายได้ มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง ทั้ง portable air cleaners หรือ air purifiers หรือ air sanitizers สามารถแบ่งเทคนิคที่ใช้ในการดักจับอนุภาคได้เป็นสองแบบด้วยกันคือ แบบใช้แผ่นกรอง (fibrous media air filters) และแบบใช้หลักไฟฟ้า (electronic air cleaners including electrostatic precipitators [ESPs] and ionizers)

แบบแผ่นกรอง ใช้การดักจับโดยตรงตามชนิดของวัสดุที่ใช้ และขนาดช่องของเส้นใย ส่วนแบบ ESPs and ionizers ใช้การสร้างประจุไฟฟ้าสถิต (active electrostatic charging process) และดึงดูดอนุภาคให้ไปติดที่แผ่นดักจับ

สำหรับเครื่องกำจัดสิ่งมีชีวิตที่แขวนลอยในอากาศด้วยแสงยูวี (ultraviolet germicidal irradiation; UVGI) จัดอยู่ในกลุ่มเทคนิคแบบใช้หลักไฟฟ้าเช่นกัน

การดูดซับก๊าซอันตรายในอากาศเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ที่ยอมรับกันคือ การใช้สารประกอบคาร์บอนหรือสารเคมีตัวกลางดักจับอื่น ส่วนการใช้ photocatalytic oxidation (PCO), plasma, และเครื่องผลิตโอโซน ประสิทธิภาพยังให้ผลไม่แน่นอน

shutterstock 1826062040

ประเด็นแรกของการเลือกเครื่องฟอกอากาศ คือ ประสิทธิภาพของเครื่องต้องเหมาะสมกับขนาดพื้นที่ห้อง โดยให้พิจารณาจากค่า clean air delivery rate (CADR) แสดงผลเป็น cfm ที่ปรากฏในสเปคเครื่อง ซึ่งได้จากการนำค่าปริมาตรอากาศที่เครื่องดึงดูดให้ผ่าน ไปคูณกับประสิทธิภาพของการดักจับอนุภาคในเครื่อง

ดังนั้นเครื่องที่มี CADR สูงก็จะให้ผลในการฟอกอากาศได้ดี แต่ก็อาจจะมีเสียงดังถ้าจะดูดอากาศเข้ามาให้ได้มาก (ค่า CADR ในสเปคเครื่อง เป็นค่าเมื่อเปิดพัดลมดูดอากาศแรงสุด ซึ่งเสียงจะดังที่สุดด้วย)

ส่วนประสิทธิภาพการดักจับอนุภาคขึ้นกับเทคนิคและวัสดุที่ใช้ โดยมีข้อพิจารณา ดังนี้

เครื่องฟอกอากาศแบบใช้แผ่นกรอง ควรเป็นชนิดที่พับเป็นทบ (pleated) ไม่ใช่แผ่นเรียบ และควรใช้อย่างน้อยเป็นเป็น HEPA filter ชนิด H13 ขึ้นไป โดยเปลี่ยนแผ่นกรองทุก 3 เดือนหรือเมื่อสกปรกมาก

ส่วนเครื่องฟอกอากาศแบบใช้หลักไฟฟ้า จะทำให้เกิดการแตกตัวของออกซิเจนกลายเป็นก๊าซโอโซน ซึ่งในปริมาณสูงจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

สำหรับชนิดที่ใช้แสงยูวีไม่แนะนำให้ใช้โดด ๆ แต่ให้ใช้เสริมกับเครื่องชนิดแบบแผ่นกรองเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรค

ส่วนตำแหน่งการวางเครื่องฟอกอากาศในห้อง ต้องอยู่ในที่โล่ง ไม่มีสิ่งกีดขวางทางเข้าออกของอากาศ และไม่อยู่ใกล้ช่องอากาศเข้าออกของห้องมากไป เพราะเราต้องการหมุนเวียนฟอกอากาศที่คงค้างในห้องเป็นหลัก

ส่วนใครที่จะไว้หัวเตียงนอน เพื่อจะได้อากาศหายใจที่บริสุทธิ์ตลอดเวลาการนอน ก็ไม่ได้มีผลดีปรากฏจริงตามคาด แต่อาจมีผลเสีย ถ้าไปตั้งเครื่องอยู่ใกล้สิ่งกีดขวางอื่น อีกทั้งอาจมีเสียงดังจากเครื่องรบกวนการนอนได้

ขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นเปิดรับนักท่องเที่ยวไทยเต็มที่แล้ว ให้เข้าไปโดยไม่ต้องทำวีซ่าตามเงื่อนไขเดิมก่อนโอไมครอนลง คงต้องการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจเช่นกัน ถึงแม้จะมีสายป่านยาวกว่าประเทศทั่วไปก็ตาม

ว่าแล้วก็เอารูปเก่าครั้งเยือนแดนอาทิตย์อุทัยมาดูย้อมใจไปก่อน จนกว่าจะถึงแผนการเดินทางจริงในอีกสองเดือนกว่าข้างหน้า

ขอหลบลี้เรื่องยุ่ง ๆ กับการเมืองไทย ด้วยการเดินทางไปประชุม และทัศนศึกษาที่เวียดนาม ในยามเช้าของวันนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo