COVID-19

แนะดูแลตัวเอง! ‘หมออุดม’ คาดอย่างน้อยอีก 1 ปี ‘โควิด’ จะเป็นโรคประจำถิ่น

“หมออุดม” คาดอย่างน้อยอีก 1 ปี “โควิด” จะเป็นโรคประจำถิ่น เตือนประชาชนยังต้องดูแลตัวเอง หลังยอดติดโควิดต่อวันยังอยู่ระดับ 3-4 หมื่นคนต่อวัน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศุนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 800-1,000 คน ส่วนผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวกอยู่ที่ 1.3-1.4 หมื่นคนต่อวัน และคาดว่ามีผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้าระบบอีก 2-3 เท่า

โรคประจำถิ่น

ผู้ติดเชื้อ 3-4 หมื่นคนต่อวัน

ทั้งนี้ โดยรวมจึงมีผู้ติดเชื้ออยู่ประมาณ 3-4 หมื่นคนต่อวัน ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เป็นเหตุผลที่ทำให้เราเปลี่ยนผ่านจากโรคติดต่อร้ายแรงมาเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ถึงขั้นโรคประจำถิ่นที่ผู้ป่วยต้องน้อยกว่านี้

อย่างไรก็ตาม การเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังทำให้เราสบายขึ้นเยอะ เพราะทุกอย่างผ่อนคลายเกือบหมด แต่อยากย้ำว่าเรายังต้องดูแลตัวเอง เพราะยังมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1% ซึ่งเราไม่อยากให้มีใครเสียชีวิต ต้องให้อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่านี้

“เชื่อว่าโควิดจะอยู่กับเราอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี ถึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ประชาชนจึงต้องดูแลตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ประเมินความเสี่ยงตนเอง สามารถถอดหน้ากากได้หากอยู่ในที่โล่ง” หมออุดม กล่าว

โรคประจำถิ่น

หน้ากากอนามัยยังความจำเป็น

นพ.อุดม กล่าวอีกว่า ขอย้ำว่าการสวมหน้ากากมีความจำเป็น โควิด-19 ยังไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น ยังไม่ได้อยู่ระดับเดียวกับไข้หวัด เพียงแต่เศรษฐกิจต้องเดินไป นอกจากนี้ วัคซีนยังมีความจำเป็น ที่สามารถลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รวมทั้งหากฉีดเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันลองโควิดได้ แต่ตอนนี้การฉีดเข็มกระตุ้นยังถือว่าต่ำ จึงขอให้เข้ารับการฉีดอย่างน้อยให้ได้เข็มที่ 3 ให้ได้ 70% ของจำนวนประชากร จะทำให้เราสบายใจกันมากขึ้น ซึ่งขณะนี้หลายคนพอเห็นอาการไม่รุนแรงเลยไม่ไปฉีดกัน

“การระบาดระลอกใหม่ไม่ใช่เรื่องที่เรากังวล เพราะเรียนรู้จากโควิดมา 3 ปี มีระบบที่รองรับได้ แต่หลังจากวันที่ 1 ต.ค. ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ศบค. หมดไป การประชุม ศบค.ครั้งนี้จึงจะคุยกันว่า จะมอบหมายให้กระทรวงต่าง ๆ ยังทำงานโดยบูรณาการร่วมกัน โดยใช่มติ ครม.ไปก่อน และระยะยาวเราได้แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อที่มีโครงสร้างบางส่วนคล้าย ศบค. จะได้ไม่ต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก ยืนยันว่า หลังวันที่ 1 ต.ค.จะไม่เกิดสุญญากาศ กระทรวงต่างๆ ยังทำหน้าที่ การทำงานจะไม่มีปัญหา” นพ.อุดม กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo