“หมอธีระ” ชี้ประชาชน 17 ล้านคนใน 53 ประเทศ เจอวิกฤติ Long COVID เชื่อจำนวนไม่น้อยมีอาการผิดปกติยาวนาน ย้ำ!! ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 14 กันยายน 2565… เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 373,989 คน ตายเพิ่ม 1,035 คน รวมแล้วติดไป 614,587,375 คน เสียชีวิตรวม 6,519,058 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญึ่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน รัสเซีย และฝรั่งเศส
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 91.38% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 69.66%
…สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก และอันดับ 7 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคมจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
…Update Long COVID
ล่าสุดทางองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคยุโรป ได้ออกประกาศเมื่อวานนี้ 13 กันยายน 2565 สาระสำคัญคือ ประเมินว่าตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2564 มีผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วประสบปัญหา Long COVID ใน 53 ประเทศ อย่างน้อย 17 ล้านคน ซึ่งคาดว่ามีจำนวนไม่น้อยที่จะมีอาการผิดปกติยาวนาน
ทางองค์การอนามัยโลกได้เตือนให้แต่ละประเทศวางแผนรับมือปัญหา Long COVID อย่างจริงจัง และลงทุนทรัพยากรเพื่อทำการศึกษาวิจัย และจัดระบบบริการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพให้แก่ผู้ป่วยที่เป็น Long COVID
ทั้งนี้ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long COVID หลังจากติดเชื้อนั้น จะมากขึ้นหากติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล, เพศหญิงพบเกิดภาวะ Long COVID ได้ราวหนึ่งในสาม และเพศชายพบได้ราวหนึ่งในห้า
…ความรู้ทางการแพทย์จากงานวิจัยทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับ Long COVID มากขึ้น
ทั้งในเรื่องกลไกที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ ซึ่งมีหลักฐานทางการแพทย์สนับสนุน ได้แก่ การตรวจพบเชื้อ และ/หรือชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสในเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงในเลือด, เซลล์ของระบบต่าง ๆ ของร่างกายถูกทำลายจากการติดเชื้อ, การพบสารบ่งชี้กระบวนการอักเสบต่อเนื่องในร่างกาย ตลอดจนการกระตุ้นเชื้อไวรัสอื่นที่มีการติดเชื้อแฝงอยู่ เช่น EBV และ VZV
ผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่าทำให้เกิดความผิดปกติได้ในแทบทุกระบบของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะติดเชื้อในเซลล์สมอง นำไปสู่ภาวะเนื้อสมองฝ่อ (Cortical atrophy) และความเสื่อมถอยด้านความจำ (Cognitive decline) โดยพบว่าผู้ที่ประสบปัญหาทางสมองนั้น จะมีสมรรถนะการคิดเสื่อมถอยลง จะใช้เวลาในการคิดวิเคราะห์นานขึ้นราว 30%
สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ Omicron ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID ด้านสมอง ระบบประสาท และจิตเวช ไม่ต่างจากเดลต้า หรือสายพันธุ์ก่อนหน้า
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องหัวใจและหลอดเลือดก็ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่าพบความเสี่ยงเพิ่มกว่าปกติยาวนานไปถึงอย่างน้อย 12 เดือนหลังติดเชื้อ และอาจนานกว่านั้น
ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นก็พบว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น เบาหวานสูงขึ้น ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
ดังนั้น การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง : At least 17 million people in the WHO European Region experienced long COVID in the first two years of the pandemic; millions may have to live with it for years to come. WHO. 13 September 2022.
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘หมอธีระ’ ชี้โควิดวันนี้ขาลงชัดเจน ลุ้นปะทุใหม่ช่วงเดือนธันวาคม!!
- ‘หมอธีระ’ สั่งจับตา ‘โอไมครอน BA.2.75’ อันตราย! ทำป่วยหนัก-เสียชีวิตมากขึ้น
- ‘หมอธีระ’ ย้ำ! โควิดไม่ใช่โรคตามฤดูกาล ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่