COVID-19

‘หมอนิธิพัฒน์’ จับตา ปริศนาการเกิดภาวะไวรัสหวนคืน หลังรับยาแพ็กซ์โลวิด

“หมอนิธิพัฒน์” เผยทีมวิจัย เร่งไขปริศนาการเกิดภาวะไวรัสหวนคืน หลังผู้ป่วยกินยาแพ็กซ์โลวิด แล้วกลับมาตรวจพบเชื้อใหม่

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ถึงการเกิดภาวะไวรัสหวนคืน หลังได้รับยาแพ็กซ์โลวิด โดยระบุว่า

ภาวะไวรัสหวนคืน

ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของควีนเอลิซาเบ็ธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พระองค์ทรงครองราชย์นาน 70 ปีกับ 7 เดือน นานกว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราไปราว 3 เดือนเท่านั้น

และนี่อาจเป็นเหตุหนึ่งให้นักเตะแมนยูพ่ายคาบ้าน ต่อนักเตะจากแดนกระทิงดุ (ไปน้ำขุ่นๆ เพราะทีมอังกฤษอื่นไม่เห็นแพ้ และในทีมเองก็มีตัวจากสหราชอาณาจักรน้อยมาก)

การตรวจพบเชื้อเฉลี่ยย้อนหลังเจ็ดวัน ลดต่ำกว่า 5 ไปอยู่ที่ 4.72% แล้ว เป็นข่าวโควิดในทางดี ต้อนรับวันที่เก้าเดือนเก้า ต่างกับข่าวร้ายน้ำท่วมสะท้านเมืองหลวงต้อนรับผู้ว่าแผ่นดินสะเทือน

นิธิพัฒน์

เริ่มมีข้อมูลมากขึ้น สำหรับปริศนาการเกิดภาวะไวรัสหวนคืน (viral rebound) ภายหลังผู้ป่วยกินยาแพ็กซ์โลวิด แล้วกลับมาตรวจพบเชื้อใหม่ หลังตรวจไม่พบไปพักหนึ่งแล้ว

ทีมนักวิจัยของบริษัทไฟเซอร์ผู้ผลิตยานี้ เปิดเผยข้อมูลในระหว่างการศึกษาประสิทธิผลของยาในผู้ป่วย 2,246 คนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ในช่วงรอยต่อของยุคเดลตามาถึงเริ่มต้นโอไมครอน

โดยตั้งเกณฑ์การกลับมาตรวจเจอไวรัสอีกครั้งในวันที่ 10 และวันที่ 14 หลังได้ยา เพื่อใช้บอกทางอ้อมว่า เชื้ออาจดื้อยา

ปรากฏว่าพบได้ 23 คนจาก 990 คนที่ได้ยาจริง (2.3%) และ 17 คนจาก 980 คนที่ได้ยาหลอก (1.7%) ดังรูป

แต่ทั้ง 40 คนที่เกิดภาวะไวรัสหวนกลับนี้ ไม่มีรายใดมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต

ไวรัส

จากข้อมูลนี้ทีมนักวิจัยจึงเชื่อว่า การเกิดปรากฏการณ์นี้ เป็นจากธรรมชาติของเชื้อมากกว่าเกิดจากยาหรือการดื้อยา (ข้อมูลเพิ่มเติม)

ใกล้เคียงกันนั้น มีการนำเสนอผู้ป่วย 13 คนในยุคโอไมครอนของอเมริกา ที่เกิดปรากฏการณ์เช่นเดียวกันนี้ แต่ทุกคนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม และไม่มีโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติมาก โดยมีอายุระหว่าง 29-71 ปี ดังรูป

บางรายขณะกลับมาตรวจเจอเชื้อใหม่ ก็มีอาการใหม่ด้วย แต่บางรายก็ไม่มี ทั้งหมดหายดีโดยไม่ต้องได้รับยาต้านไวรัสใหม่

การตรวจเอทีเค จะกลับมาพบมาก ในช่วงวันที่ 9-15 หลังติดเชื้อ หรือเริ่มมีอาการครั้งแรก และคงเจอเชื้อใหม่อยู่ได้นาน 2-7 วัน

รายที่นานสุดคือถึงวันที่ 22 มีสองรายที่อาจเกิดการแพร่เชื้อให้คนใกล้ชิดระหว่างที่กลับมาตรวจเจอเชื้อใหม่

ไวรัส1

สอดคล้องกับการศึกษาที่พบว่า ระหว่างการกลับมาตรวจเจอเชื้อใหม่นั้น ปริมาณไวรัสกลับเพิ่มมากขึ้นกว่าการตรวจเจอครั้งแรกเสียอีก (ข้อมูลเพิ่มเติม)

สรุปแล้วอะไรก็เกิดขึ้นได้กับโควิด คล้ายคลึงความไม่แน่นอนของทีมปิศาจแดง แต่ส่วนตัวแล้วเชื่อว่า แพกซ์โลวิด ยังเป็นอาวุธสำคัญในยุคเตรียมพร้อมหลังโควิด ยกเว้นเชื้อกลายพันธุ์ (สำหรับความไวต่อยาของเชื้อ BA.2.75 โปรดติดตามตอนต่อไป)

ระหว่างนี้กลับไปทบทวนบทเรียนอันเจ็บปวดในประวัติศาสตร์การแพทย์ไทย จากวิดีโอคลิป เรื่องเล่าโควิดระลอก 4 เดลตา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo