COVID-19

เตรียมพร้อมหลังยุคโควิด-19 ‘หมอนิธิพัฒน์’ แนะใช้เครื่องฟอกอากาศ ติดตั้ง HEPA filter

“หมอนิธิพัฒน์” แนะวิธีเตรียมพร้อมหลังยุคโควิด ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศที่มีระบบ HEPA filter ประสิทธิภาพสูง ป้องกันเชื้อโควิดล่องลอยในอากาศ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล แนะใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง ดักจับเชื้อโควิดที่หลุดลอยในอากาศ โดยระบุว่า

HEPA filter

สถิติโควิดวันนี้ทำให้พอสบายใจไม่ต่างผลบอลเมื่อเช้ามืด สัปดาห์หน้าอาจเห็นการเสียชีวิตรายวันน้อยกว่า 20 ได้

เมื่อพูดถึงการเตรียมพร้อมยุคหลังโควิด หนึ่งในวิธีการซึ่งเป็นที่ยอมรับกันสำหรับการกรองเชื้อซาร์โควี-2 ในอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การใช้ HEPA filter ชนิดที่มีประสิทธิภาพสูง ในกรณีที่ไม่สามารถจัดให้มีระบบระบายอากาศในห้องนั้นได้เพียงพอ

ทั้งนี้ เพื่อหวังการเจือจางปริมาณเชื้อที่หลุดลอยมาในอากาศให้ได้รวดเร็วที่สุด สำหรับสร้างความมั่นใจต่อบุคลากรที่ต้องเข้าไปปฏิบัติงาน นอกเหนือไปจากการมีอุปกรณ์ปกป้องตัวเอง (PPE) โดยเฉพาะหน้ากาก N95

ทีมนักวิจัยจากอังกฤษ ได้ทำการศึกษาการใช้เครื่องฟอกอากาศที่ติดตั้ง HEPA filter สำหรับดักจับเชื้อซาร์โควี-2 และเชื้อโรคอื่นที่แขวนลอยในอากาศ แล้วจึงทำลายเชื้อดังกล่าวด้วยระบบแสงยูวีซีในตัวเครื่อง

หมอนิธิพัฒน์ 2

โดยวางเครื่องฟอกอากาศไว้ในหอผู้ป่วยที่ดัดแปลงมาใช้รับผู้ป่วยโควิด โดยที่ไม่มีระบบระบายอากาศที่ดีเพียงพอ คือ มีอากาศหมุนเวียนเฉลี่ยอยู่ที่ 2-4 เท่าของปริมาตรห้องต่อชั่วโมง (air changes/hour; ACH) ขณะที่มาตรฐานอยู่ที่อย่างน้อย 12 ACH

พบว่าการใช้เครื่องฟอกอากาศดังกล่าว สามารถทำให้ปริมาณเชื้อโรคที่ล่องลอยในอากาศรอบตัวผู้ป่วยนั้น ลดลงได้มากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีความสำคัญทางคลินิก เพราะถ้าเปิดเครื่องตลอดเวลา บางช่วงเวลาจะไม่พบเชื้อโรคเลย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อซาร์โควี-2 รวมถึงเชื้อไวรัสอื่น เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราที่มักพบแขวนลอยในอากาศบริเวณที่ผู้ป่วยอยู่ ดังรูปที่ 1 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/…/PMC8689842/pdf/ciab933.pdf

B

มีการศึกษาจากประเทศสวีเดนให้ผลไปในทิศทางเดียวกัน ที่มีเพิ่มเติมคือ แม้จะอยู่ในระหว่างที่มีการทำหัตถการที่เพิ่มการฟุ้งกระจายของละอองลอย (aerosols-generating procedures; AGP) เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจ การใช้ไฮโฟลว์ การพ่นละอองลอยยา (nebulization) ฯลฯ ก็ไม่พบว่ามีปริมาณเชื้อซาร์โควี-2 ในอากาศเพิ่มขึ้นชัดเจน

ยกเว้นบางหัตถการ เช่น การดูดเสมหะ การเปลี่ยนหรือถอดท่อช่วยหายใจ การส่องกล้องหลอดลม อาจเพิ่มปริมาณเชื้อในอากาศชั่วคราวได้ ดังรูปที่ 2

1

ดังนั้นขอให้บุคลากรมั่นใจได้ว่าถ้ามีหน้ากากและระบบระบายอากาศที่ดี ไม่ต้องกลัวได้รับเชื้อง่ายแม้จะเป็นหัตถการ AGP หลายอย่างที่กล่าวอ้างกัน ถ้าไม่ได้ไปยุ่งมากมายในโพรงจมูกหรือช่องปากหรือช่องคอของผู้ป่วย https://www.ncbi.nlm.nih.gov/…/PMC9383519/pdf/ciac161.pdf

ดังนั้นการเตรียมสถานที่ในโรงพยาบาลเพื่อรับมือยุคหลังโควิด ถ้าสามารถจัดให้มีระบบระบายอากาศที่ดี หรือใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเสริมในจุดที่ยังไม่ได้มาตรฐาน สามารถสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี และการพยายามหลีกเลี่ยงการทำหัตถการ AGP บางอย่างดังเช่นในอดีตก็จะลดน้อยลง

สำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทนอกโรงพยาบาล เช่น ในที่อยู่อาศัย หรือแหล่งสาธารณะที่มีคนอยู่กันเป็นจำนวนมาก ฯลฯ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจและทำการวิจัยต่อไปในบ้านเรา
#เตรียมพร้อมยุคหลังโควิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo