COVID-19

‘หมอธีระ’ สรุปความรู้เรื่อง Long COVID ย้ำ! ไม่ติดเชื้อดีที่สุด

“หมอธีระ” สรุปความรู้ปัจจุบัน “Long COVID” สำหรับประชาชน ชี้เกิดขึ้นได้แทบทุกระบบ ตั้งแต่สมอง ระบบประสาท ภาวะสมองฝ่อ ย้ำ! ไม่ติดเชื้อดีที่สุด

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 16 สิงหาคม 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 418,484 คน ตายเพิ่ม 1,038 คน รวมแล้วติดไป 595,549,387 คน เสียชีวิตรวม 6,455,645 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน

Long COVID

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 86.16% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 68.01%

…สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคมจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

……สรุปความรู้ปัจจุบันเกี่ยวกับ Long COVID สำหรับประชาชน…

ความสำคัญ : ภาวะผิดปกติหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เรียกว่า Long COVID นั้นเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกังวล และส่งผลบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการดำเนินชีวิตประจำวัน และการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายสำหรับทั้งผู้ป่วย ครอบครัว/คนรัก/คนใกล้ชิด ที่ทำงาน และสังคม

Long COVID

สาเหตุ : การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น แม้รักษาระยะแรกหายแล้ว แต่ก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายต่อเนื่อง โดยอาจเกิดขึ้นจาก

  1. มีการติดเชื้อถาวร หรือมีชิ้นส่วนหรือสารพันธุกรรมของไวรัส ค้างอยู่ในร่างกาย (persistent infection) โดยปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยัน
  2. เกิดกระบวนการอักเสบระยะยาวเรื้อรัง (chronic inflammatory process)
  3. การติดเชื้อทำให้การทำงานอวัยวะ/ระบบต่างๆ ของร่างกายผิดปกติไปจากเดิม (organ dysfunction from viral infection)
  4. เกิดภูมิต่อต้านตนเอง (autoantibody) แต่ล่าสุดงานวิจัยจาก Ishikawa A มหาวิทยาลัยเยล ชี้ให้เห็นว่ากลไกนี้อาจเป็นไปได้น้อยลง
  5. เกิดการเสียสมดุลของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในร่างกาย และส่งผลต่อความผิดปกติของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ตามมา (Dysbiosis)

Long COVID

อาการผิดปกติของ Long COVID : เกิดขึ้นได้แทบทุกระบบ ตั้งแต่สมอง/ระบบประสาท ภาวะสมองฝ่อ ความจำเสื่อม คิดวิเคราะห์ลำบากกว่าปกติ ปวดหัว เวียนหัว ปัญหาการนอนหลับ และความผิดปกติทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า เครียดวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน

ปัญหาหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่กล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อบุหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด หัวใจหยุดเต้น รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง และการอุดตันของหลอดเลือดตามที่ต่าง ๆ ระบบหายใจผิดปกติ ทำให้เหนื่อยง่าย หอบ เพราะมีความผิดปกติของสมรรถนะของปอดและการแลกเปลี่ยนออกซิเจน

ระบบต่อมไร้ท่อ ได้แก่ การเกิดโรคเบาหวานในคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงคนที่เคยเป็นเบาหวานมาก่อนก็อาจคุมโรคได้ยากมากขึ้น, ฮอร์โมน Cortisol ต่ำกว่าปกติ, และปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ อารมณ์ทางเพศลดลง ปัญหาในการหลั่งอสุจิ

รวมถึงอาการทางระบบอื่น ได้แก่ อ่อนเพลียเหนื่อยล้าจนทำงานไม่ไหว ออกกำลังกายไม่ไหว ผมร่วง และอาการปวดที่ต่างๆ ตามร่างกายทั้งกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ

ต้องเผชิญกับอาการผิดปกติไปนานแค่ไหน ? : อาการผิดปกติเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หลายเดือนไปเป็นปี หรือเป็นแบบถาวร ขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้น

เกิดกับใครได้บ้าง? : เกิดได้ทั้งในคนที่เคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง เกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยผู้ที่ป่วยปานกลางและรุนแรงจะเสี่ยงกว่าป่วยน้อยและไม่มีอาการ, เพศหญิงเสี่ยงกว่าเพศชาย (ราว 2 เท่า), และวัยผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าวัยเด็ก

Long COVID

โอกาสเกิดมากน้อยเพียงใด ? : เฉลี่ยแล้วมีโอกาสเกิดขึ้นราว 5-30⁺% ขึ้นกับสายพันธุ์ที่ติดเชื้อ และปัจจัยต่างๆ เช่น เพศ วัย อาการป่วยที่เป็น การฉีดวัคซีน ฯลฯ

US CDC พบว่า เกิดในวัยผู้ใหญ่ได้ราว 1 ใน 5 และในวัยเด็กได้ราว 1 ใน 4

ผลวิจัยล่าสุดในเนเธอร์แลนด์ พบเฉลี่ย 1 ใน 8 แต่ไม่ได้รวมอาการสำคัญที่พบบ่อยทั่วโลกคืออาการผิดปกติทางด้านความคิดความจำ ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงกว่านั้น

ป้องกันได้ไหม? : การฉีดวัคซีนครบตามกำหนด จะช่วยลดความเสี่ยงต่อ Long COVID ได้ราว 15%

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ

มีวิธีรักษาไหม ? : ยังไม่มีวิธีรักษา Long COVID เฉพาะเจาะจง ปัจจุบันมีงานวิจัยทั่วโลกราว 26 โครงการที่กำลังศึกษาอยู่ แต่ต้องใช้เวลา หากมีอาการผิดปกติจึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และทำการดูแลรักษาโรคหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้น

ปัจจุบันเราควรปฏิบัติตัวอย่างไรดี ? : สำหรับคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ควรหมั่นประเมินสภาพร่างกายและจิตใจเป็นระยะ หากผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ ไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ

รักตัวเองและครอบครัวให้มาก ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุดครับ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK