COVID-19

‘หมอนิธิพัฒน์’ เชื่อวันหยุดยาว ยอดโควิดไม่พุ่ง คนกรุงเกิดภูมิคุ้มกันหมู่โอไมครอน

“หมอนิธิพัฒน์” คาดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ ภาพรวมทั้งประเทศ กำลังลดลงช้า ๆ เชื่อวันหยุดยาว ตัวเลขไม่เพิ่ม เหตุคนกรุงมีภูมิคุ้มกันหมู่จากโอไมครอนแล้ว

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล โพสต์เพจเฟซบุ๊ก เชื่อวันหยุดยาว โควิดไม่เพิ่ม และกำลังลดลงช้า ๆ โดยระบุว่า

ภูมิคุ้มกันหมู่

สถิติโควิดวันนี้อาจจะยังไม่ชัดเจนนักสำหรับอีกหลายคน แต่สำหรับผมแล้ว เริ่มเห็นจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการรุนแรง และผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจลดลงช้า ๆ

 

นั่นหมายถึง ว่าถ้าตัวเลขที่มาแสดงนี้ไม่ถูกบิดเบี้ยว จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งประเทศน่าจะกำลังลดลงช้า ๆ  จากจุดสูงสุดนับแต่ต้นเดือนที่แล้วเป็นต้นมา เหตุที่ลงช้าเพราะมีช่วงวันหยุดยาวมาทำให้ยอดกระเพื่อม

เมื่อวานเจอเพื่อนร่วมงานที่บ้านริมน้ำ ซึ่งรับผิดชอบงานโควิดด่านหน้าที่ห้องฉุกเฉิน ยังทักว่างานของเขากำลังค่อยลดลงแล้ว หลังตึงเครียดมากว่าสามสัปดาห์ เขาก็ว่าเดี๋ยวหยุดยาวสามวันข้างหน้าก็มาใหม่อีก

แต่ผมตอบไปอย่างมั่นใจว่า ไม่มีทาง เพราะคนกรุงเทพเกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว จากติดโอไมครอนทุกสายพันธุ์รวมกันน่าจะเกิน 70% ของประชากรจริง และประชากรแฝง ในเมืองหลวงอันแสนศิวิไลซ์นี้

กว่าสามปีของสถานการณ์วิกฤติโควิด ผมต้องพูดคุยกับผู้คนมากขึ้นทั้งออนไซต์และออนไลน์ ได้พบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ที่คิดเล่น ๆ ว่า ต่อให้เกิดอีกหลายชาติก็ยังทำไม่ได้เท่านี้ (ทุกชาติต้องได้ทำตัวแบบที่ชอบทำอยู่ด้วยนะ)

โควิด 1

แล้วผู้คนในสังคมในช่วงวิกฤติเดียวกันนี้ มีปฏิสัมพันธ์ต่อสมาชิกสังคมกันเป็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากในอดีตเวลามนุษย์เผชิญวิกฤตการณ์สุขภาพขนาดใหญ่ร่วมกัน เช่น การระบาดของกาฬโรคที่ตั้งต้นจากลอนดอน และการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน จะเกิดความร่วมมือกันและไว้วางใจกัน ในการก้าวไปเพื่อข้ามพ้นวิกฤติ

แต่โรคโควิด-19 ต่างกับเขาตรงที่ติดต่อกันง่ายมาก ๆ จนคนเราจะยังอยากไว้ใจคนอื่นมากขึ้นกว่าเดิมจริงหรือ

ทีมนักวิจัยจากอิตาลี ได้ทำการสำรวจทัศนคติของกลุ่มคนราวพันกว่าคน ตั้งแต่ เมษายน 2563 และติดตามเป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องไปจนถึง กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ประชากรที่ทำการศึกษา มีทัศนคติเชิงบวกและไว้ใจคนแปลกหน้ามากกว่าก่อนโควิดระบาด

โดยเฉพาะคนที่ตัวเองติดเชื้อด้วย จะยิ่งแสดงออกแบบนี้มากกว่าคนที่ยังไม่ติดเชื้อ อาจเป็นจากผู้คนแสดงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (altruism) ให้เห็นกันได้แพร่หลายขึ้น อีกทั้งความจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากคนอื่นก็มากขึ้นด้วย

นิธิพัฒน์
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงการระบาดลดลง ความไว้วางใจเหล่านี้ก็ลดลงเป็นเงาตามตัว แสดงว่าเรื่องของอารมณ์และจริตมีส่วนมาปรุงแต่งพอควร แต่ในภาพรวมแล้วความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคม ก็ยังสูงกว่าเดิมเล็กน้อยก่อนที่โควิดเขาจะมา https://www.pnas.org/doi/epdf/10.1073/pnas.2116818119

ดังนั้นใครที่อ่านสิ่งที่ผมสื่อ ขอให้ถือว่าผมเป็นคนแปลกหน้าในสถานการณ์โควิดไปให้ตลอดแล้วกัน จะได้คล้อยตามสิ่งที่ผมนำเสนอไม่เสื่อมคลาย

ส่วนนักการเมืองและข้าราชการประจำในคาถานักการเมือง ขอให้ถือว่าเขาเป็นเช่นคนคุ้นเคย ที่เราเห็นกันมาจนชัดเจนว่ามีไส้กี่ขด มียืดมีหดตามแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวพาไป ดังนั้นเขาพูดอะไรมาก็ตรองให้ดีก่อน หากรีบเชื่อไปก่อนโดยไม่แยกแยะอาจมีน้ำตาตกในภายหลัง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo