COVID-19

โควิดยังระทึก!! ‘หมอธีระ’ คาดสิ้นเดือนนี้ยอดติดโควิดทั่วโลกทะลุ 600 ล้านคน

โควิดยังระทึก!! “หมอธีระ” คาดสิ้นเดือนนี้ยอดติดโควิดทั่วโลกทะลุ 600 ล้านคน ส่วนไทยวานนี้ยอดเสียชีวิตพุ่งเป็นอันดับ 11 ของโลก ย้ำ!! การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 10 สิงหาคม 2565 ด้วยแนวโน้มสถานการณ์ปัจจุบัน ทั่วโลกอาจมียอดติดเชื้อทะลุ 600 ล้านภายในสิ้นเดือนนี้ เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 638,473 คน ตายเพิ่ม 1,405 คน รวมแล้วติดไป 590,726,580 คน เสียชีวิตรวม 6,440,226 คน

หมอธีระ

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 87.15% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 68.54%

…สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวานสูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคมจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

หมอธีระ

…อัพเดตความรู้โควิด-19

“คนสูงอายุมีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ที่ด้อยกว่า ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่าคนวัยหนุ่มสาว”

Joseph M และคณะ จากสหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับสากล PNAS เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นลักษณะตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ (T-cell response) ต่อไวรัสโรคโควิด-19 เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 50 ปี
พบว่าการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของคนที่อายุเยอะจะมีความจำกัดกว่าคนอายุน้อย

งานวิจัยนี้ได้ระบุว่า ปรากฏการณ์ข้างต้นน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีส่วนอธิบายว่าเหตุใดคนสูงอายุที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วจึงมีโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่าคนอายุน้อย

การดูแลและป้องกันการติดเชื้อแพร่เชื้อในผู้สูงอายุ รวมถึงคนที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงมีความสำคัญมาก ทั้งเรื่องการใส่หน้ากาก รวมถึงการฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด

หมอธีระ

“การวิจัยเพื่อหาทางรักษาภาวะ Long COVID”

Ledford H ได้เขียนบทความเผยแพร่ในวารสาร Nature วันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

โดยนำเสนอให้เห็นว่าตลอดช่วงที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั่วโลกจำนวนมาก และส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยที่เกิดภาวะอาการคงค้าง หรืออาการผิดปกติในระยะยาวอย่าง Long COVID เพิ่มขึ้นมาก แต่ยังไม่มีวิธีการรักษาอย่างจำเพาะเจาะจง

ขณะนี้เริ่มมีการวิจัยเพื่อหาวิธีรักษา Long COVID และมีอย่างน้อย 26 โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยทำการศึกษาแนวทางต่างๆ เช่น ยาต้านการอักเสบ ยาสลายลิ่มเลือด สเตียรอยด์ และอื่น ๆ

ทั้งนี้ จำเป็นต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัย กว่าจะรู้ผล

…การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอนะครับ

อ้างอิง

  1. Joseph M et al. Global patterns of antigen receptor repertoire disruption across adaptive immune compartments in COVID-19. PNAS. 9 August 2022.
  2. Ledford H. Long-COVID treatments: why the world is still waiting. Nature. 9 August 2022.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK