COVID-19

‘หมอธีระ’ เปิดผลศึกษาโควิดกับ ‘หญิงตั้งครรภ์’ อาการรุนแรง แท้งบุตร รกผิดปกติ

“หมอธีระ” เปิดผลศึกษา ‘โควิด’ กับหญิงตั้งครรภ์ ชี้อาการรุนแรง แท้งบุตร รกผิดปกติ คลอดก่อนกำหนด เตือนในประเทศยังระบาดหนัก การป้องกันตัวเองอย่างสม่ำเสมอ สำคัญมาก!

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 9 สิงหาคม 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 467,294 คน ตายเพิ่ม 1,188 คน รวมแล้วติดไป 589,851,350 คน เสียชีวิตรวม 6,437,880 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย

หมอธีระ

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 83.09% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 68.6%

…สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้ สธ. ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคมจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

…พยาธิสภาพของรกในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19

Joshi B และคณะ จากประเทศอินเดีย เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารทางการแพทย์ด้านสูตินรีเวชระดับสากล Placenta ฉบับเดือนกันยายน 2565 โดยทำการศึกษาลักษณะผิดปกติของรกในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 173 คน ที่ได้รับการดูแลในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิในแถบภาคเหนือของอินเดีย

shutterstock 1946749300 e1634788373487

อายุเฉลี่ยราว 29 ± 5 ปี จากทั้งหมด 173 คน พบว่า

  • 26 คนติดเชื้อแบบมีอาการ โดย 15 คนมีอาการรุนแรง ในขณะที่ 6 คนเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโรคโควิด-19
  • 13 คนตั้งครรภ์แฝด
  • แท้ง 4 คน
  • คลอดก่อนกำหนด 90 คน
  • โดยเฉลี่ยแล้ว คลอดเมื่ออายุครรภ์ราว 35 ± 4 สัปดาห์

ที่น่าสนใจคือ จากการตรวจรกจากสตรีที่ตั้งครรภ์และติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งหมด 179 ชิ้น พบว่า มีความผิดปกติต่าง ๆ สูงถึง 49.16% อาทิ เส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงรกผิดปกติ ลิ่มเลือดอุดตัน ฯลฯ

โควิดวันนี้

ทั้งนี้คณะผู้วิจัยชี้ให้เห็นว่า ความผิดปกติของรกที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะมีความสัมพันธ์กับปัญหาการเสียชีวิตของทารก (ทารกตายคลอด) ปัญหาทารกที่มีคะแนนประเมินทารกแรกเกิดต่ำ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากการตั้งครรภ์ได้
อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาเชิงเปรียบเทียบเพื่อควบคุมปัจจัยอื่นที่อาจมีอิทธิพลต่อการเกิดพยาธิสภาพของรก และการศึกษาความสัมพันธ์กับผลลัพธ์จากการตั้งครรภ์เพิ่มเติมในอนาคต

…สถานการณ์ไทยเรา มีการติดเชื้อจำนวนมากในแต่ละวัน การป้องกันตัวเองอย่างสม่ำเสมอจึงมีความสำคัญมาก
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเป็นเรื่องที่จำเป็น

อ้างอิง

  • Joshi B et al. The placental pathology in Coronavirus disease 2019 infected mothers and its impact on pregnancy outcome. Placenta. September 2022:127;1-7.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK