COVID-19

แนวทางอยู่รอดจากโควิด เมื่อเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังเจอระบาดจากเชื้อกลายพันธุ์

“หมอขวัญชัย” อัพเดทแนวทางอยู่รอดจากโควิด หลังเจอการกลายพันธุ์ใหม่ไม่หยุด แนะวิธีป้องกัน การดูแลตัวเองเมื่อติดเชื้อหรือสงสัยว่าติดเชื้อ

นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo เรื่อง อัพเดทแนวทางการอยู่รอด (Survival guide) ของคนไทยเมื่อโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่ยังมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เป็นระยะ ๆ โดยระบุว่า

shutterstock 1676169577

แม้ปัจจุบันโควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นสำหรับประเทศไทยแล้ว แต่ก็ยังเกิดการระบาดระลอกใหม่จากเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน มาจนถึงปัจจุบัน

เชื่อว่าต่อไปจะยังคงมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ เพราะเชื้อไวรัสจะพยายามกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ เพื่อหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน และการติดเชื้อสายพันธุ์เดิม

อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกใหม่ ๆ มักจะไม่รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับระลอกก่อน ๆ เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นร่วมด้วย

แม้จะป้องกันการติดเชื้อได้ไม่ดีนัก แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรงได้ ทำให้ผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ระลอกใหม่เกือบทั้งหมด จะเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 และเป็นผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ฉีดไม่ครบ หรือไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้นตามกำหนด

ดังนั้น เพื่อให้พวกเราทุกคนสามารถอยู่กับโควิดได้อย่างปลอดภัย จะขอ update แนวทางการอยู่รอดจากโควิด (Survival guide) ของคนไทยเมื่อโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่ยังคงมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เป็นระยะ ๆ ดังนี้

LINE ALBUM วัคซีนโควิดรพ.สนามยา ๒๒๐๔๒๑

การป้องกันโควิด

แม้โควิดจะมีความรุนแรงน้อยลง แต่เรายังควรพยายามป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโควิดจะดีกว่า ซึ่งสามารถทำได้โดย

1. คนไทยทุกคนควรได้รับวัคซีนป้องกันโควิดอย่างน้อย 3 เข็ม แต่กลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง และหญิงมีครรภ์ ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 4-6 เดือน

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนถือเป็นเอกสิทธิ์ส่วนบุคคลไม่มีใครสามารถบังคับได้ แต่หากท่านสมัครใจไม่ยอมไปฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเข็มไหนก็ตาม ท่านก็ต้องยอมรับความเสี่ยงว่าตนเองมีโอกาสที่จะเป็นโควิด มีอาการรุนแรง และเสียชีวิตจากโควิดมากกว่าคนอื่นๆที่ได้รับวัคซีนครบตามกำหนด

2. เนื่องจากอาจจะมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เกิดขึ้นเป็นระยะๆ การป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลจึงยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านเป็นหรือเป็นผู้ดูแลกลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบตามกำหนด โดยการสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อย ๆ เมื่อต้องพบปะผู้อื่น เข้าไปในสถานที่ที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก สถานที่ปิดที่ระบบระบายอากาศไม่ดี เป็นต้น

shutterstock 1663756195

การดูแลรักษาตนเองเมื่อสงสัยว่าจะเป็นโควิด

ปัจจุบันอัตราการป่วยตายของโควิดต่ำลงมาก จนใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล การดูแลรักษาโควิดจึงมีแนวทางที่ใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่มาก ดังนี้

1. เมื่อสัมผัสผู้ป่วยโควิดแต่ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องตรวจ ATK สามารถออกนอกบ้าน ไปเรียน หรือไปทำงานได้ตามปกติ แต่พยายามแยกตัวจากผู้อื่น (สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อย ๆ อย่างเคร่งครัด) และสังเกตอาการตนเองเป็นเวลา 5-7 วัน

2. สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 และได้รับวัคซีนป้องกันโควิดแล้วอย่างน้อย 3 เข็ม ถ้ามีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ฯลฯ ให้สงสัยว่าตนเองเป็นโควิดไว้ก่อน อาจตรวจ ATK ด้วยตนเองเพื่อยืนยันการติดเชื้อก็ได้

แต่ไม่ว่าจะได้ผลบวกหรือลบ ก็ควรแยกตัวอยู่ที่บ้าน (self isolation สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ อย่างเคร่งครัด) เป็นเวลา 7-10 วัน หรือจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาของแต่ละคน

3. สำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 หรือไม่เคยฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบตามกำหนด ถ้ามีอาการในข้อ 2 แม้เพียงเล็กน้อยให้ตรวจ ATK ด้วยตนเอง และถ้าได้ผลเป็นบวก ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาของแต่ละคน หรืออาจไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเลยก็ได้ เนื่องจากแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่บ้านหรือรับไว้รักษาตัวในรพ. ซึ่งทั้ง 2 กรณีต้องกักแยกตัวเป็นเวลา 7-10 วัน

4. ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก ให้รีบไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลได้ทุกแห่ง

ในสถานการณ์ที่โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่ยังมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ขึ้นเป็นระยะ ๆ เราคงต้องอดทนใช้ชีวิตแบบ new normal ต่อไปอีกซักพัก

แต่ที่สำคัญคือทุกภาคส่วนต้องตั้งสติ และไม่วิตกจริตจนเกินเหตุ เพราะหากเราตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเชื่อว่าน่าจะสามารถก้าวข้ามโควิดไปได้อย่างปลอดภัย และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติจริง ๆ ในอีกไม่นานเกินรอ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo