COVID-19

ชมรมแพทย์ชนบท จี้เลิกผูกขาด แก้ปัญหายาฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์ขาดหนัก

ชมรมแพทย์ชนบท แนะเลิกผูกขาด แก้ปัญหายาฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์ขาดแคลนหนัก เชื่อราคาถูกลง

ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เพจเฟซบุ๊ก แนะแนวทางแก้ปัญหา ยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์ขาดหนัก ต้องเลิกผูกขาด โดยระบุว่า

ยาฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์

ฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์ขาดหนัก แพทย์ชนบทมีข้อเสนอ เลิกผูกขาด ยามีพอทันที แถมราคาถูกลง

รัฐบาลผูกขาดการผลิต และจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ให้กับ องค์การเภสัชกรรม พร้อมขายฝันว่า ไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ป้อนให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ได้เพียงพอ ต่อมาก็ขยายการผูกขาดสู่ยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดด้วย และนำมาสู่ปัญหายาขาดยาตลอดการสู้ภัยโควิด

ในความเป็นจริง ทั่วโลกนั้น ยาไม่ได้ขาด แต่ที่ประเทศไทยยาขาดเพราะการผูกขาด เพียงกระทรวงสาธารณสุขประกาศยกเลิกการผูกขาดโดยองค์การเภสัชกรรม ให้บริษัทเอกชนสามารถนำเข้าได้ ความขาดแคลนยาจะหายไปในทันที

บทเรียนนี้ก็เช่นเดียวกับกรณีวัคซีนโควิดที่รัฐบาลให้องค์การเภสัชกรรมผูกขาด จนวัคซีนขาดแคลน แม้เอกชนสั่งและพร้อมนำโมเดอร์นาน่าเข้ามาช่วย ก็ทำไม่ได้เพราะผูกขาดไว้ การยุติการผูกขาดเท่านั้นที่จะยุติภาวะยาขาดแคลนไปเลย

และเอาเข้าจริง ๆ องค์การเภสัชกรรม ก็ผลิตฟาวิพิราเวียร์ กระพร่องกระแพร่งมากจนแทบจะไม่ได้ผลิต และหันมานำเข้าแทนเพราะถูกกว่า เช่นนี้แล้ว สธ.จะปิดกั้นเอกชนไปทำไม ให้เขานำเข้าด้วย ราคาฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์ จะถูกลง และไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน

แพทย์ชนบท

จากข่าวที่สภาพัฒน์ จะเสนอ ครม. ของบเงินกู้อีก 3,995 ล้านบาท ให้องค์การเภสัชกรรมซื้อยาฟาวิพิราเวียร์นั้น ยิ่งควรเลิกใช้กลไกเก่าที่ปะผุจนชำรุดได้แล้ว เสียดายงบ

ชมรมแพทย์ชนบท เสนอให้ เลิกการผูกขาดฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด ปลดล็อคให้บริษัทยาเอกชนนำเข้าได้ แล้วให้รัฐกำหนดอัตราการเบิกจ่ายชดเชยคืนแก่โรงพยาบาลในราคาต้นทุน

เงินร่วม 4,000 ล้านนี้ นำไปจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลแทน จะสามารถประหยัดได้กว่ามาก เพราะทันทีที่ยกเลิกการผูกขาด ราคายาจะถูกลงจนสังคมจะตั้งคำถามว่า ทำไมที่ผ่านมาซื้อล็อตใหญ่แต่ราคากลับสูงกว่า

กทม. โรงพยาบาลเอกชน ร้านขายยา ขอจัดหาและจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ ตามใบสั่งแพทย์ได้ เช่นนี้แล้ว ก็ควรปลดล็อคให้โรงพยาบาลของรัฐด้วย

ทั้งนี้ เพื่อปิดฉากความขาดแคลน อันเนื่องมาจากการผูกขาดขององค์การเภสัชกรรม รัฐวิสาหกิจที่ทุกโรงพยาบาลรู้ว่าขายยาแพงกว่าบริษัทยาคุณภาพของเอกชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo