COVID-19

ข่าวดี!! ยาต้านไวรัส ‘Evulsheld’ ที่ไทยใช้ ป้องกัน BA.2.75 ดีกว่า BA.4-BA.5

“ดร.อนันต์” วิเคราะห์โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ที่แพร่ระบาดในอินเดีย มีข่าวดี ยาต้านไวรัส Evulsheld ที่ไทยใช้ ป้องกันได้ดีกว่า BA.4-BA.5

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เผยผลวิจัยญี่ปุ่น พบ ยาต้านไวรัส Evulsheld ที่ไทยใช้ ป้องกัน BA.2.75 ดีกว่า BA.4-BA.5 โดยระบุว่า

ยาต้านไวรัส

เริ่มมีข้อมูลเกี่ยวกับ BA.2.75 ที่แพร่กระจายในอินเดีย ที่หลายคนกังวลว่าจะเป็นสายพันธุ์หลักมาแทน BA.5 ในอนาคต เนื่องจาก BA.2.75 มีการเปลี่ยนแปลงบนโปรตีนสไปค์มากกว่าสายพันธุ์ BA.2 ทั่วไป

แต่การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ไปอยู่นอกส่วน RBD หรือส่วนที่สไปค์ถูกจับด้วยแอนติบอดี ทำให้ความสามารถหนีภูมิคุ้มกันของ BA.2.75 เมื่อเทียบกับ BA.5 ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่

ข้อมูลล่าสุดจากทีมวิจัยจีนได้ทดสอบภูมิคุ้มกันจากผู้ได้รับวัคซีน Sinovac 3 เข็ม และ ติดเชื้อ BA.2 มาเปรียบเทียบกับไวรัสตัวแทนที่มีสไปค์รูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึง BA.4/5 และ BA.2.75 ด้วย

ดร.อนันต์ 1

ผลออกมาดูเหมือนว่า ความสามารถในการหนีภูมิจากคนที่มีภูมิจากธรรมชาติ (BA.2) ของ BA.2.75 ยังสู้ BA.4/5 ไม่ได้ (217 vs. 175)

แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงที่เยอะขึ้นใน BA.2.75 อาจจะช่วยเรื่องการจับกับโปรตีนตัวรับได้ง่ายขึ้นแต่ไม่ช่วยเรื่องหนีภูมิ จึงทำให้เห็นว่าไวรัสตัวนี้วิ่งไวกว่าในอินเดีย

ผลที่น่าสนใจอีกชิ้นนึงคือ ภูมิจากคนติดเชื้อเดลต้ามา (ยังไม่มีภูมิจาก BA.2) สามารถถูก BA.2.75 หนีได้ดีกว่า ซึ่งอาจจะอธิบายปรากฏการณ์ในอินเดียตอนนี้ได้ แต่ข้อมูลตัวอย่างยังน้อยคงใช้อ้างอิงไม่ได้

ดร.อนันต์1

ข้อมูลอีกชุดนึงมาจากทีมญี่ปุ่นได้เปรียบเทียบความสามารถของยาชนิด Antibody รักษาที่ออกมาหลายผลิตภัณฑ์กับไวรัส BA.2.75 ก็พบว่า ไม่ได้แตกต่างจาก BA.2 ทั่วไปมากนัก

ที่น่าสนใจคือยา Evulsheld ที่ประเทศไทยจะนำมาใช้ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกัน BA.2.75 ดีกว่า BA.4/5 ด้วยซ้ำครับ ถือว่าเป็นข่าวดีมากครับ

ผมขอไม่เรียก BA.2.75 ว่า Centaurus ตามที่มีคนใช้กันนะครับ ชื่อนี้ไม่ใช่ชื่อที่เป็นทางการและมีแนวโน้มจะเลิกใช้กัน เหมือนคำว่า Deltacron ในอดีต

ดร.อนันต์2

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo