COVID-19

โอไมครอน BA.4-BA.5 ระบาด ขณะที่ไทยจ่อประกาศโรคประจำถิ่น ‘หมอขวัญชัย’ แนะวิธีปฏิบัติตัวตามนี้

“หมอขวัญชัย” แนะวิธีปฏิบัติตัว เมื่อโอไมครอน BA.4-BA.5 ระบาดระลอกใหม่ ทั้งที่ไทยเตรียมประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น อย่าตื่นตูมแต่ต้องไม่ประมาท

นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo เรื่อง การระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4-BA.5 ในประเทศไทย ได้เวลาตื่นตูมหรือยัง? โดยระบุว่า

โอไมครอน BA.4-BA.5

เริ่มมีการตรวจพบเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4-BA.5 จากผู้ติดเชื้อในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2565 และพบเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์จาก 7% เป็น 44%, และ 52% ของเชื้อที่ระบาดในประเทศไทย

จากธรรมชาติของเชื้อสายพันธุ์ย่อย 2 ชนิดนี้ ที่สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ทั้งที่เกิดจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ รวมทั้งสามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิมทุกชนิด จึงเชื่อว่าน่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของเชื้อที่ระบาดในประเทศไทยแทนที่ BA.1-BA.2 ในเร็ว ๆ นี้ เช่นที่เคยเกิดขึ้นในการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์อื่น ๆ ที่ผ่านมา

การระบาดระลอกใหม่ของโอไมครอน BA.4-BA.5 ในขณะที่ ประเทศไทยเริ่มประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น

จำนวนผู้ป่วยโควิดในประเทศไทยตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565 จนถึงปัจจุบัน เปรียบเทียบระหว่างช่วง 1-10 มิถุนายน ที่พบ BA.4-BA.5 น้อยมาก กับช่วงหลังจากนั้นที่พบ BA.4-BA.5 เพิ่มขึ้น จะเห็นว่าค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก จนแทบจะไม่เห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นเลย

โอไมครอน ผู้ป่วยรายวน

แต่ช่วงนี้มีกูรูและสื่อหลายสำนัก ออกมาแจ้งเตือนทุกวันว่า เริ่มมีการระบาดของโควิดระลอกใหม่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย โดยอ้างว่าจำนวนผู้ติดเชื้อราว 2,000 รายต่อวันที่ทางการรายงาน น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงไม่น้อยกว่า 10 เท่า บางคนก็ประมาณว่าตัวเลขที่แท้จริง อาจจะเป็นหลายหมื่นหรือถึงแสนรายต่อวัน

เรื่องการกล่าวหาว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต่ำกว่าความเป็นจริง คงต้องปล่อยให้ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจง ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงเป็นเท่าไรนั้น คงยากที่จะบอกได้

เพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วเกิน 80% ของประชากร รวมทั้งมีผู้ที่เคยติดเชื้อตามธรรมชาติไปแล้วกว่า 20% ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ในระยะนี้ มักจะไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จึงไม่ได้ตรวจ ATK และน่าจะมีไม่น้อยที่อาจตรวจ ATK เป็นลบทั้ง ๆ ที่ติดเชื้อไปแล้ว

ดังนั้นการนับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน จึงคาดได้เลยว่า ต้องต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ในระยะที่โควิดเป็นโรคประจำถิ่นนี้ แทบจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด ทั้งที่มีและไม่มีอาการ เพราะไม่มีผลต่อทั้งการรักษาและป้องกันโรคแต่อย่างใด (ความเห็นส่วนตัว)

ความรุนแรงของการติดเชื้อโอไมครอน BA.4-BA.5 ในประเทศไทย

ข้อมูลที่น่าจะสำคัญกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน คือ การแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของการระบาดของโรค ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าจะปกปิดได้ยาก เช่น จำนวนผู้ป่วยที่รับไว้รักษาใน รพ. ผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด

โอไมครอน ป่วยหนัก

หากถ้าเปรียบเทียบระหว่างช่วง 1-10 มิถุนายน ที่พบ BA.4-BA.5 น้อยมาก กับช่วงหลังจากนั้น จะเห็นว่า

1. จำนวนผู้ป่วยที่รับไว้รักษาใน รพ. มีแนวโน้มค่อนข้างคงที่

2. จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบระยะหลัง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังถือว่าใกล้เคียงกับช่วงที่สายพันธุ์ย่อย BA.1-BA.2 ระบาด

3. จำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมีแนวโน้มคงที่

4. จำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากโควิดมีแนวโน้มคงที่

อนึ่ง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โดยส่วนใหญ่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ฉีดไม่ครบ 2 เข็ม หรือไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้นตามกำหนดเช่นเคย

อย่าเพิ่งตื่นตูม แต่ไม่ควรประมาท

ก่อนอื่นไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า มีการระบาดระลอกใหม่จากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4-BA.5 เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ในประเทศไทย ประจวบกับเป็นช่วงที่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐ เพื่อให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น

โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการระบาดจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามที่หลายฝ่ายแจ้งเตือน แต่ในด้านความรุนแรงของโรคมีเพียงจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบที่เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งยังต้องติดตามข้อมูลต่อไปอย่างใกล้ชิด

เพราะหากปล่อยให้มีผู้ป่วยนอนรพ. ผู้ป่วยปอดอักเสบ และผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเกินขีดความสามารถของรพ.ทั่วประเทศ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับภาคประชาชน การที่กูรูและสื่อทั้งหลายออกมาแจ้งเตือนในรอบนี้ ถือว่าเป็นการสร้างความตระหนัก แต่ต้องไม่ให้เกิดความตระหนกจนเกินไป เราทุกคนยังสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่ไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 ควรรีบไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากและเร็วที่สุด รวมทั้งยังต้องเข้มงวดในมาตรการป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลต่อไป ได้แก่ สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อย ๆ เมื่อต้องพบปะใกล้ชิดผู้อื่น เข้าไปในสถานที่ที่มีคนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถรักษาระยะห่างได้ และสถานที่ปิดที่ระบบระบายอากาศไม่ดี

จนกว่าจะแน่ใจว่า สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคได้ดีแล้วจริง ๆ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo