COVID-19

‘หมอธีระ’ สงสัยทำไมผล ATK จังหวัดเดียวพุ่งเกือบเท่าทั้งประเทศ!!

“หมอธีระ” สงสัย!! ทำไมผล ATK จังหวัดเดียวพุ่ง 3,045 คน เกือบเท่ายอดทั้งประเทศที่ “กรมควบคุมโรค” รายงาน 4,814 คน ชี้การใส่หน้ากากเสมอเวลาตะลอนนอกบ้าน เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat พร้อมเปรียบเทียบผลการตรวจ ATK ของ จ.ชลบุรี กับการรายงานผลของ กรมควบคุมโรค โดยระบุว่า น่าคิด…ในวันที่เป็นแดนดงโรคโควิด… ชลบุรี จังหวัดเดียวก็ตรวจพบ ATK 3,045 คนแล้ว แต่ทั้งประเทศ กรมควบคุมโรคบอกตรวจเจอ ATK 4,814 คน

หมอธีระ

ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้เสมอ

แปลว่าชลบุรีมีการติดเชื้อที่ตรวจ ATK คิดเป็น 63.25% ของทั้งประเทศ ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้เสมอ???

ปล. เค้าบอกไว้ในเว็บว่าไม่รวมกทม. ดังนั้นแปลว่าอีก 75 จังหวัด คงมี ATK กันเฉลี่ยจังหวัดละไม่เกิน 24 คน

…สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 17 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคมจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

…บันทึกวันแรกของการเป็นแดนดงโรค (endemic area)…

หมอธีระ

1 กรกฎาคม 2565 วันแรกของการเป็น “แดนดงโรค” โควิด หรือ “พื้นที่โรคชุกชุม”

โดยอยู่ในสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบาดกระจายต่อเนื่อง
หน่วยงานบอกว่าพอ หมอพอ เตียงพอ ยาพอ…คงคล้ายกับคำว่า “เอาอยู่”

ในขณะที่ประชาชนที่ให้ความใส่ใจสุขภาพ มุ่งหวังที่จะมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต จำเป็นต้องหาทางเอาตัวรอด ให้อยู่รอดปลอดภัย ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางนโยบายและสังคมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อสูง

…ติดเชื้อแล้ว กักตัว 5 วันตามแนวทางที่กำหนด จะปลอดภัยไหม?

ล่าสุดมีงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine เมื่อ 29 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับระยะเวลาที่ยังตรวจพบเชื้อ ปริมาณเชื้อ และเพาะเชื้อขึ้น หลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19

จากข้อมูลวิจัยจะเห็นได้ว่า การกักตัว 5 วันหลังการติดเชื้อนั้นไม่เพียงพออย่างแน่นอน และยังไม่ปลอดภัย เนื่องจากยังสามารถเพาะเชื้อได้ถึงอีกเกือบ 50% และยังมีปริมาณไวรัสที่ตรวจพบระดับสูง

หมอธีระ

ถ้าจะปลอดภัย ตามข้อมูลเรื่องปริมาณเชื้อ และอัตราการเพาะเชื้อขึ้น คือราว 2 สัปดาห์หรืออย่างน้อย 10 วันขึ้นไป แต่ในทางปฏิบัติจะทำได้ยากด้วยความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ แรงงาน และการใช้ชีวิตในสังคม

ดังนั้น หากผู้ที่ติดเชื้อจำเป็นต้องกลับไปใช้ชีวิตหรือทำงานก่อนเวลา 7-10 วัน ก็ต้องตระหนักเสมอว่าอาจนำเชื้อไปแพร่ให้คนอื่นได้

จึงควรป้องกันตัวเข้ม ๆ ระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันต่อจนกว่าจะครบ 2 สัปดาห์เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ โดยใส่หน้ากาก N95 หรือเทียบเท่า ไม่ถอดหน้ากากเวลาพบปะ ทำงาน หรือพูดคุยกับผู้อื่น รักษาระยะห่าง และที่สำคัญมากคือ ไม่ไปร่วมวงกินข้าวในที่ทำงาน ไม่ไปร่วมวงปาร์ตี้กินดื่มสังสรรค์ หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อแก่ผู้อื่น

หากช่วยกันปฏิบัติดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อแพร่เชื้อตามสถานที่ต่าง ๆ ท่ามกลาง สถานการณ์ระบาดปัจจุบันได้บ้างไม่มากก็น้อย

…ณ จุดนี้ ยังยืนยันว่า “การใส่หน้ากากเสมอเวลาตะลอนนอกบ้าน” เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

โควิด ไม่จบแค่ชิล ๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK