COVID-19

แนวทางอยู่รอดของคนไทย ปฏิบัติตัวแบบไหน เมื่อโควิดเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ เต็มตัว

“หมอขวัญชัย” แนะแนวทางอยู่รอดอย่างปลอดภัย เมื่อโควิด กลายเป็นโรคประจำถิ่นเต็มตัว ย้ำป้องกันดีกว่าปล่อยให้เป็น

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo เรื่อง แนวทางการอยู่รอด (Survival guide) ของคนไทยในระยะที่โควิดเป็นโรคประจำถิ่นเต็มตัว โดยระบุว่า

โรคประจำถิ่น

เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดอย่างปลอดภัย

ประเทศไทยเริ่มวางแผนเปลี่ยนผ่าน จากโรคระบาดโควิด สู่การเป็นโรคติดต่อทั่วไป หรือโรคประจำถิ่นตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีความคืบหน้ามาตามลำดับ โดยอาศัยข้อมูลที่จำนวนผู้ป่วยโควิด ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และผู้ที่เสียชีวิตจากโควิดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายเดือน

เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งภาคครัวเรือน และระดับประเทศ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องประกาศผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคเกือบทั้งหมด เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถดำเนินชีวิต และกิจการต่าง ๆ ได้ตามปกติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

โดยนับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ถือได้ว่า โควิดเป็นโรคประจำถิ่น สำหรับประเทศไทยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ต้องระลึกไว้เสมอว่า โควิดไม่ได้เป็นศูนย์ หรือหายไปจากประเทศไทยแล้ว ยังคงมีผู้ป่วยโควิดรายใหม่ราว 2,000 รายแทบทุกวัน เพียงแต่เราสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด จนอยู่ในเกณฑ์ที่สังคมยอมรับได้เท่านั้นเอง

ดังนั้น เพื่อให้พวกเราทุกคนสามารถอยู่กับโควิดได้อย่างปลอดภัย จะขอสรุปแนวทางการอยู่รอด (Survival guide) ของคนไทยในระยะที่โควิดเป็นโรคประจำถิ่นอย่างเต็มตัว ดังนี้

LINE ALBUM Covid atk สถานที่ต่างๆ ๒๒๐๖๒๐ 0

การป้องกันโควิด

แม้ว่าในภาพรวมของประเทศ โควิดจะมีความรุนแรงน้อยลงอย่างชัดเจน โดยมีอัตราการป่วยตายใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

แต่สำหรับภาคประชาชน ถ้าไม่สุดวิสัยจริง ๆ คงไม่มีใครอยากป่วยเป็นโควิด เพราะถึงส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ก็ต้องเสียทั้งเวลาและโอกาสในการทำมาหากิน จากการที่ต้องกักตัวที่บ้านอย่างน้อย 7-10 วัน

ดังนั้น เราทุกคนควรยึดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า อโรคยา ปรมาลาภา นั่นคือ ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ การป้องกันตนเองย่อมดีกว่าการปล่อยให้เป็นโควิดอย่างแน่นอน ซึ่งสามารถทำได้โดย

1. ไปรับวัคซีนป้องกันโควิดตามเกณฑ์ที่ภาครัฐแนะนำ โดยทุกคนควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่าทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน ที่แม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีนัก แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรง และการเสียชีวิตได้

จากข้อมูลของผู้ที่ได้รับวัคซีนหลายพันล้านคนทั่วโลก พบว่า วัคซีนทุกชนิดที่มีใช้ในปัจจุบัน มีผลข้างเคียงน้อยมาก เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน

ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้นมากกว่านี้ แนะนำว่า ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อแล้วอาจจะมีอาการรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตได้ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง และหญิงมีครรภ์ สามารถไปฉีดวัคซีนกระตุ้นได้ทุก 4-6 เดือน ส่วนคนทั่วไปการฉีดวัคซีนมากกว่า 3 เข็มอาจไม่มีความจำเป็นมากนัก

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตถ้าพบว่า ยังมีการระบาดของโรค และมีการกลายพันธุ์ของเชื้อบ่อย ๆ อาจมีความจำเป็นที่ประชาชน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง) จะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคปีละครั้ง เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน

2. แม้ว่าภาครัฐจะประกาศเลิกบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากในที่สาธารณะแล้ว แต่ไม่ได้มีข้อห้ามไม่ให้ประชาชนสวมหน้ากากในที่สาธารณะแต่อย่างใด

ผู้ที่ยังไม่ไว้วางใจและกลัวว่าจะติดโควิดจากผู้อื่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง) ยังสามารถป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ เมื่อต้องพบปะผู้คน เข้าไปในสถานที่ที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก ไม่สามารถรักษาระยะห่างจากผู้อื่นได้ สถานที่ปิดที่ระบบระบายอากาศไม่ดี เป็นต้น

LINE ALBUM รวมหมอโควิด ๒๒๐๖๒๐

การดูแลรักษาตนเองเมื่อสงสัยว่าจะเป็นโควิด

การที่โควิดเป็นโรคประจำถิ่นเต็มตัว หมายถึง จะยังคงมีผู้ป่วยโควิดรายใหม่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เช่นเดียวกับโรคประจำถิ่นอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก เป็นต้น ซึ่งแต่ละโรคก็จะมีแนวทางการดูแลรักษาแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของโรคนั้น ๆ

สำหรับโควิด ซึ่งเดิมถือว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรงพอสมควร เนื่องจากมีผู้ป่วยทีมีอาการหนัก และเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย

แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปกว่า 2 ปี ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อโรคเพิ่มขึ้น ทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และจากการได้รับวัคซีน ทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรง และการเสียชีวิตได้

ระยะหลัง แม้จะยังคงมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่มักไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง ทำให้อัตราการป่วยตายของโควิดต่ำลงมาก จนใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล การดูแลรักษาโควิดจึงมีแนวทางที่ใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่มาก ดังนี้

1. เมื่อสัมผัสผู้ป่วยโควิดแต่ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องตรวจ ATK สามารถออกนอกบ้าน ไปเรียน หรือไปทำงานได้ตามปกติ แต่พยายามแยกตัวจากผู้อื่น (สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ อย่างเคร่งครัด) และสังเกตอาการตนเองเป็นเวลา 5-7 วัน

2. ถ้ามีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ฯลฯ ให้สงสัยว่าตนเองเป็นโควิดไว้ก่อน อาจตรวจ ATK ด้วยตนเองเพื่อยืนยันการติดเชื้อก็ได้

แต่ไม่ว่าจะได้ผลบวกหรือลบก็ควรแยกตัวอยู่ที่บ้าน (self isolation สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ อย่างเคร่งครัด) เป็นเวลา 7-10 วันหรือจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาของแต่ละคน

3. ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก ให้ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลได้ทุกแห่ง เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวท่านเองและคนใกล้ชิด เราอาจยังต้องใช้ชีวิตแบบ new normal ต่อไปอีกซักระยะหนึ่ง (หลายเดือนหรือเป็นปี)

แต่ที่สำคัญ คือ ต้องไม่หวาดกลัวมากจนเกินเหตุ เพราะหากเราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เชื่อว่าน่าจะสามารถก้าวข้ามโควิดไปได้อย่างปลอดภัย และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติจริง ๆ ในอีกไม่นานเกินรอ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo