COVID-19

‘ดร.อนันต์’ เปิดผลงานวิจัยวัคซีน โมเดอร์นาสูตรผสม ‘Wuhan+BA.1’ ความหวังสู้โอไมครอน

“ดร.อนันต์” เผยงานวิจัยวัคซีน โมเดอร์นาสูตรผสม อู่ฮั่น+BA.1 กระตุ้นภูมิสูงขึ้น อีกความหวังสู้ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana บอกข่าวดีการวิจัยวัคซีนโมเดอร์นา เวอร์ชันใหม่ สูตรผสม โดยระบุว่า

LINE ALBUM Covid atk สถานที่ต่างๆ ๒๒๐๖๑๒

ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อไหร่ดี หรือ รอวัคซีนเวอร์ชั่นใหม่ดี เจอคำถามนี้ทุกวันครับ

วันนี้ไปอ่านเจอบทความในวารสาร Science Immunology พูดถึงเรื่องนี้พอดี เห็นว่าน่าสนใจครับ

เรื่องของเรื่องคือ มีงานวิจัยตีพิมพ์ออกมา 2 งานใกล้ ๆ กันก่อนหน้านี้พบว่า คนที่ฉีดวัคซีนแล้วบังเอิญไปติดโอไมครอน BA.1 มา กลับมีภูมิคุ้มกันต่อโอไมครอนไม่มากเหมือนที่คิด

ภูมิที่กระตุ้นมาจากการติดเชื้อนั้น กลับไปจำเพาะต่อสายพันธุ์เก่า ที่ร่างกายจำมาจากวัคซีนมากกว่า เหมือนภูมิจากไวรัสจากธรรมชาติที่ได้มาทีหลังจากที่ร่างกายเรียนรู้จากวัคซีนมา จะขึ้นมาไม่ทันภูมิจากวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภูมิที่ไม่ค่อยช่วยอะไรมาก ต่อการป้องกันสายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ

วัคซีนที่ฉีดเข้าสู่ร่างกาย คือ โปรตีนสไปค์ของไวรัสสายพันธุ์เก่า (Wuhan) เม็ดเลือดขาวชนิด B cell เริ่มเห็นโปรตีนตัวนี้ และจดจำโปรตีนตัวนี้เอาไว้ (เปลี่ยนจาก naive B cell เป็น memory B cell หรือ ในภาพใช้ Bmem)

โดย Bmem ที่จำสไปค์มีหลายชนิดมาก ในรูปวาดแทนไว้ 3 สี (ฟ้า เหลือง น้ำตาล) ซึ่งไปจำเพาะแต่ละส่วนของโปรตีนสไปค์ต่างที่ต่างตำแหน่งกัน

อนันต์ 1

และเมื่อมีการฉีดเข็ม 2 เพื่อกระตุ้น ไม่ว่าจะวัคซีนชนิดไหน Bmem ทั้งหมด ก็จะถูกกระตุ้นให้แบ่งตัวเพิ่มขึ้น จับกับโปรตีนได้แน่นขึ้น (สังเกตที่สีของ Bmem ถูกตั้งใจวาดให้เข้มขึ้น)

กระตุ้นเข็ม 3, 4 , 5 ก็จะสร้างแอนติบอดีขึ้นมาแทนแอนติบอดีที่ลดลงไปตามเวลา Bmem บางชนิดก็อาจจะเข้มขึ้นต่อๆไปได้อีก

กรณีที่คนที่มีภูมิจากวัคซีนไปติดเชื้อโอไมครอน BA.1 มา ร่างกายจะเห็นโปรตีนสไปค์ที่แตกต่างไป ในภาพใช้สีฟ้าอมเขียว เพื่อสร้างความแตกต่างกับสไปค์ของวัคซีนที่ใช้สีน้ำตาลเข้ม

พอ Bmem ที่ร่างกายสร้างไว้เห็นสไปค์ของ BA.1 บางเซลล์คือ ไม่รู้จักเลยถ้า Bmem ตัวนั้นไปจำเพาะต่อส่วนที่ BA.1 กับ Wuhan ต่างกันแบบสิ้นเชิง (ในภาพคือ Bmem สีน้ำตาลอ่อน)

ในขณะที่ Bmem บางส่วนพอจำได้ เพราะไปจับส่วนที่สไปค์มีตรงกันยังไม่กลายพันธุ์ไป และ สร้างแอนติบอดีออกมาได้ ( Bmem สีฟ้า กับ สีน้ำตาล) ซึ่งอาจจะช่วยจับโอไมครอนและยับยั้งได้บางส่วน แต่ไม่ดีเท่าสายพันธุ์อื่น ๆ

ดังนั้น จะเห็นว่า คนที่ติด BA.1 ก็สามารถกระตุ้นภูมิต่อ Wuhan ได้อยู่ ถึงแม้จะน้อยกว่าการกระตุ้นด้วยวัคซีนโดยตรง เพราะ Bmem บางตัวไปต่อไม่ได้นั่นเอง

วัคซีน 1

ประเด็นสำคัญคือ สไปค์ของ BA.1 ก็พยายามจะสร้าง Bmem ที่จำเพาะต่อ BA.1 เช่นเดียวกัน แต่จากภาพจะเห็นว่า การติดเชื้อตามธรรมชาติเหมือนการเริ่มต้นใหม่ คือ ต้องไปกระตุ้น naive B cell ให้กลายเป็น Bmem ซะก่อน (ในภาพคือ Bmem สีม่วง)

แต่การใส่เครื่องหมาย ? ไว้ในภาพ สื่อความหมายว่า ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้เป็นปกติหรือไม่ เพราะในทางทฤษฎีสภาวะที่ร่างกายได้รับแอนติเจนเข้าสู่ร่างกาย Bmem จะเป็นเซลล์ที่ตอบสนองต่อแอนติเจนได้ไวกว่า naive B cell มาก ๆ

นั่นคือ ถึงแม้จะได้สไปค์ที่ตรงต่อโอไมครอนเข้าไป สิ่งที่ได้มาอาจจะเป็นผลผลิตจาก Bmem เก่า ๆ ที่เราสะสมไว้จากการฉีดวัคซีน 3-5 เข็มกันก่อนหน้านี้

Bmem ต่อ BA.1 เหมือนออกตัวช้ากว่า Bmem ของ Wuhan มาก ความกังวลที่เกิดขึ้นคือ ตกลงวัคซีนที่จะพัฒนาออกมาจากโอไมครอนจะได้ผลดีเหมือนที่คาดไว้หรือไม่ เพราะ Bmem ของ BA.1 อาจจะสร้างขึ้นไม่ทันการแบ่งตัวอย่างมหาศาลของ Bmem ของ Wuhan ถ้าใช้วัคซีนของ BA.1

นอกจากจะทำให้เสีย Bmem บางตัวที่วัคซีนเดิมกระตุ้นได้แล้ว Bmem ตัวใหม่อาจจะไม่ได้สร้างขึ้นได้มากเหมือนที่คิดหรือเปล่า? ถ้าแบบนี้วัคซีนตัวเดิมอาจจะดีกว่าหรือไม่?

แต่ข่าวดีที่เหมือนจะออกมาจาก Moderna คือ ถ้าลองใช้สูตรวัคซีนแบบผสม คือมี Wuhan กับ BA.1 อย่างละครึ่ง (Bivalent vaccine) ทำให้ได้ภูมิที่สูงกว่า Wuhan อย่างเดียว ซึ่งถ้าผลออกมาเป็นอย่างนั้นอาจช่วยให้ Bmem ของ BA.1 สร้างขึ้นมาช่วยได้บ้างไม่มากก็น้อย

ทำให้ความหวังของวัคซีน Version ใหม่ยังเป็นไปได้อยู่ครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo