COVID-19

วิเคราะห์สถานการณ์โควิด หลังเปิดเทอม 7 วัน ก่อนเข้าสู่โรคประจำถิ่น

“หมอขวัญชัย” วิเคราะห์สถานการณ์โควิด หลังเปิดเรียน 7 วัน แนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิต

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo สรุปสถานการณ์โควิด หลังเปิดเรียน 7 วัน ก่อนปรับเข้าสู่โรคประจำถิ่นภายใน 1-2 เดือนจากนี้ โดยระบุว่า

สถานการณ์โควิด

สถานการณ์การระบาดของโควิดหลังเปิดเทอม 7 วัน
เป็นที่คาดกันว่าการเปิดเทอมทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 น่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การระบาดของโควิดภายในประเทศไม่มากก็น้อย เนื่องจากการป้องกันการแพร่เชื้อในโรงเรียนโดยเฉพาะเด็กเล็กทำได้ยาก รวมทั้งอัตราการฉีดวัคซีนในเด็กยังไม่สูงมากนัก

วัคซีน 3

 

จากรูปที่ 1 จะเห็นว่าเด็กอายุ 5-11 ปีทั่วประเทศฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ไม่ถึง 60% และฉีดเข็ม 2 ได้ไม่ถึง 30%

หากเด็กติดเชื้อก็มีโอกาสที่จะนำไปแพร่ต่อในครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งแม้ว่าราว 80% จะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้ว แต่ยังฉีดเข็มกระตุ้นได้ไม่ถึงครึ่ง จึงมีความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้นหากติดเชื้อ อาจจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

 

ดังนั้น การติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีแผนเผชิญเหตุเร่งด่วน จึงมีความจำเป็น ดีกว่ารอให้เกิดการระบาดใหญ่แล้วมาตามแก้ไขภายหลัง ซึ่งอาจจะสายเกินไป

ผู้ติดเชื้อ

รูปที่ 2 แสดงจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน (รวม PCR และ ATK) ในประเทศ หลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงขาลงของการระบาดระลอกนี้

จะเห็นว่าในวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเริ่มเปิดเทอม มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทั่วประเทศค่อนข้างต่ำคือ 6,838 ราย แต่หลังจากเปิดเทอม 7 วันกลับสูงขึ้นเป็น 12,930 ราย ซึ่งก็ต้องถือว่าเพิ่มขึ้นพอสมควร

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นในระดับนี้ ก็ไม่ถึงกับน่ากังวลมากนัก เพราะยังเทียบไม่ได้กับสถานการณ์การระบาดในช่วงหลังสงกรานต์

ข้อมูลที่สำคัญกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อก็คือ จำนวนผู้เสียชีวิตและอัตราการป่วยตาย ซึ่งถ้าสูงขึ้นอย่างชัดเจนก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล

เสียชีวิต 1

รูปที่ 4 แสดงจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดและอัตราการป่วยตายเฉลี่ย 7 วันในประเทศ จะเห็นว่าในวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเริ่มเปิดเทอม มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดรายวันทั่วประเทศ 38 ราย

แต่หลังจากเปิดเทอม 7 วัน แม้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตกลับลดลงต่อไปเป็น 33 ราย ส่วนอัตราการป่วยตายของทั้งประเทศ ก็มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน

สรุปแล้วแม้จะมีหลายท่านกังวลต่อสถานการณ์โควิด หลังการเปิดเทอมทั่วประเทศ แต่จากการติดตามข้อมูลจริง ก็ยังถือว่าพอรับได้ เพราะแม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้างแต่ก็ไม่มากนัก รวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด และอัตราการป่วยตายยังไม่มีแนวโน้มสูงขึ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดโควิดไปเป็นโรคประจำถิ่นภายใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้เดินหน้าต่อไปได้อย่างปลอดภัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo