COVID-19

ปิดเรียนช่วงโควิดระบาด 9 เดือน เด็กทั่วโลกเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 560 ล้านล้าน

“สภาพัฒน์” เผยปิดเรียนช่วงโควิดระบาด 9 เดือน ทำเด็กทั่วโลกความสามารถในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 560 ล้านล้านบาท ขณะที่เด็กไทยชั้นประถมพบปัญหาการเรียนถดถอย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าวถึงภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 ธนาคารโลกได้ประมาณการในปี 2563 ว่าการปิดเรียนกว่า 3-9 เดือน อาจทำให้เด็กหนึ่งคนสูญเสียความสามารถในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 6,472-25,680 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณคนละ 217,000 – 864,000 บาท

ปิดเรียนช่วงโควิด

ทั้งนี้ หากคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียรวมทั่วโลก จะคิดเป็นเงินสูงถึงประมาณ 10-17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 560 ล้านล้านบาท

สำหรับภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย หรือ การสูญเสียการเรียนรู้ (Learning loss) หมายถึง การสูญเสียความรู้หรือทักษะใด ๆ หรือ การชะลอตัวหรือขัดขวางความก้าวหน้าทางวิชาการ

ปิดเรียนช่วงโควิด เด็กสูญเสียการเรียนรู้

สาเหตุของภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย มาจากการขยายช่องว่าง หรือความไม่ต่อเนื่องในการศึกษาของนักเรียน การหยุดชะงักของการศึกษาในระบบ การออกกลางคันการขาดเรียน และการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ต้องปิดเรียนเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เด็กสูญเสียการเรียนรู้อย่างรุนแรง

สภาพัฒน์

ด้านองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เผยหลักฐานชี้ชัดว่า ถ้าปราศจากแผนช่วยฟื้นฟูที่เข้าใจสถานการณ์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง ในระยะยาว ซึ่งเด็กที่ผ่านประสบการณ์ปิดโรงเรียนเป็นเวลานาน เพราะโรคระบาด จะมีแนวโน้มเรียนรู้ช้าลงกว่าช่วงก่อนโควิด-19

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อระดับการศึกษา หน้าที่การงาน และคุณภาพชีวิตในอนาคต  รวมถึงมูลค่าที่ประชากรคนหนึ่ง สามารถสร้างให้แก่เศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

สำหรับประเทศไทย งานศึกษาของคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ให้เห็นว่า เด็กชั้นอนุบาล 3 ในจังหวัดที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปิดโรงเรียนในช่วงเดือนมกราคม เป็นระยะเวลานานถึง 1 เดือนเต็ม มีระดับคะแนนความพร้อมของเด็กปฐมวัย ต่ำกว่านักเรียนกลุ่มที่สามารถไปเรียนได้ตามปกติ

ทั้งนี้พบว่า คะแนนด้านภาษา ลดลง 0.39 ปี ด้านคณิตศาสตร์ ลดลง 0.32 ปี และด้านสติปัญญา ลดลง 0.38 ปี

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

ขณะที่ผลการสำรวจสถานการณ์การศึกษาจากครูและบุคลากรทางการศึกษา ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จำนวน 1,030 คน ในเดือนเมษายน 2565 ครูส่วนใหญ่ พบปัญหาการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียน โดยพบปัญหาระดับปานกลาง 39.3% ในระดับมากและมากที่สุด 31%

ในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษา เป็นช่วงชั้นที่มีปัญหาภาวะถดถอยมากที่สุด โดยเฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–3 ที่สูงถึง 60.5%

สาเหตุของการเรียนรู้ที่ถดถอยของนักเรียนในช่วงโควิด-19 พบว่าเกิดจากการขาดแคลนอุปกรณ์ รองลงมาคือการไม่มีสมาธิในการเรียนออนไลน์ และส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาติดตามการเรียน หรือสอนการบ้านไม่ได้ และมีฐานะยากจน

ดังนั้น ภาครัฐและคนในสังคม จำเป็นต้องเร่งสร้างระบบนิเวศน์การเรียนรู้ และปรับปรุงโครงสร้างการศึกษา ที่สนับสนุนให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo