COVID-19

ไม่เกี่ยวกัน! ภูเก็ตแจงกรณี ‘เด็ก 12 ปี’ ตาบอด หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2

แพทย์ยัน เด็กชาย 12 ปี ตาบอด หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 สาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด ผู้ว่าฯ ภูเก็ต เรียกประชุมด่วน เตรียมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่

จากกรณีที่ปู่ และย่า ของ ด.ช.เอ (นามสมมติ) อายุ 12 ปี ได้ร้องเรียนว่า หลังจากที่หลานชายฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 2 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนปีที่แล้ว ก็มีอาการไม่สบาย และช็อกหมดสติ จนต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลถลาง และส่งต่อไปยัง โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยเข้ารักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู ประมาณ 2 สัปดาห์ ภายหลังฟื้นขึ้นมา พบว่าตาทั้งสองข้างมองไม่เห็นแล้ว เชื่อว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์นั้น

ฉีดวัคซีนไฟเซอร์

วันนี้ (9 พ.ค.)  นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามข้อเท็จจริง ก่อนแถลงข่าวร่วมกับ นพ.วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต คณะแพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นายอำเภอ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายณรงค์ กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตได้รับทราบข้อมูล และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้การช่วยเหลือและดูแลเด็กและครอบครัวอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ พญ.ณัฐวรรณ เทพณรงค์ แพทย์ชำนาญการกุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต รายงานข้อมูลว่า เด็กชาย อายุ 12 ปี มีประวัติการฉีดวัคซีน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 (10 วันก่อนมาโรงพยาบาล)

ข้อมูลการรักษาที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ระบุว่า เข้ารับการรักษาวันที่ 6 ธันวาคม 2564-10 มกราคม 2565 คณะแพทย์ได้ทำการรักษาและร่วมทำการวินิจฉัยโรค โดยพบว่า เป็นอาการของโรคไซนัสอักเสบฉับพลันทุกไซนัส ที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส

ฉีดวัคซีนไฟเซอร์

ผู้ป่วยยังมีอาการอักเสบบริเวณเบ้าตา และมีฝีหนองในเบ้าตาด้านขวา มีอาการเยื่อหุ้มสมอง และเนื้อสมองอักเสบ กระดูกรอบ ๆ โพรงไซนัส และกระดูกรอบเบ้าตาอักเสบ และมีภาวะอุดตันของแอ่งเลือดดำ บริเวณฐานกะโหลก

ในการรักษานั้น แพทย์ได้ให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียทางหลอดเลือดดำที่ครอบกลุ่มเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ร่วมกับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดหยอดตา และให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดรับประทานต่อที่บ้าน

นอกจากนี้ ยังรักษาด้วยการผ่าตัด ประกอบด้วย

  • ผ่าตัดไซนัส โดยวิธีการส่องกล้อง วันที่ 7 ธันวาคม 2564
  • ผ่าตัดเพื่อระบายหนองในเบ้าตา วันที่ 10 ธันวาคม 2564
  • ผ่าตัดไซนัส โดยวิธีการส่องกล้องครั้งที่ 2 วันที่ 7 มกราคม 2565 เพื่อติดตามอาการ และตัดพังผืดในโพรงไซนัส

หลังจากผ่าตัด แพทย์ได้ให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ตามมาตรฐานการรักษาภาวะอุดตันของแอ่งเลือดดำ บริเวณฐานกะโหลก และได้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิดในหอผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรม เมื่ออาการคงที่แล้ว จึงย้ายมาหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม

ทางด้าน นพ.คงกฤช กาญจนไพศิษฐ์ แพทย์ หู คอ จมูก โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ยืนยันว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเด็กรายนี้ตาบอด เกิดจากโรคไซนัสเฉียบพลัน โดยการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อว่าสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส โดยมีผลการยืนยันจากการตรวจเชื้อจากเบ้าตา ฐานกะโหลก และไขสันหลัง ซึ่งตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส เหมือนกัน

ฉีดวัคซีนไฟเซอร์

“เด็ก 12 ปี” ตาบอด ไม่ได้เป็นผลข้างเคียง จากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2

ขณะที่ พญ.ปรารถนา ตุลยกนิษก์ จักษุแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการดูแลรักษาต่อเนื่อง และการฟื้นฟูว่า โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ นัดติดตามตรวจตา และให้คำแนะนำแนวทางการดูแลผู้ป่วย ทั้งแก่ผู้ป่วยเอง และญาติที่ดูแล นัดทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อฝึกการเดิน การนั่ง การเคลื่อนไหว และการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

ทั้งยังมีนัดติดตามที่คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และวางแผนส่งพบผู้เชี่ยวชาญ Low Vision clinic ที่แผนกจักษุ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติ ได้เข้าอบรม แนวทางในการดูแลตนเอง การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ วางแผนด้านการศึกษา รวมไปถึงการงาน และพื้นฐานอาชีพในอนาคต นัดติดตามอาการทางระบบประสาท ที่คลินิกระบบประสาทเด็ก และนัดติดตามอาการเรื่องไซนัสอักเสบ ที่คลินิกหูคอจมูก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างดีที่สุด

ส่วน พญ.วิทิตา แจ้งเอี่ยม รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า จากการประชุมของทีมแพทย์ และคณะกรรมการวินิจฉัยผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน มีข้อสรุปยืนยันตรงกันว่า กรณีของเด็กอายุ 12 ปี มีอาการตาบอดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่ได้เกิดจากผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนและการป่วยของคนไข้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากการฉีดวัคซีนที่ทำให้ป่วย ซึ่งในฐานะผู้บริหารจัดการการฉีดวัคซีนในภาพรวม ขอฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า การฉีดวัคซีนอาจจะมีผลข้างเคียง หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์บ้าง ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เช่น จะมีไข้อ่อนเพลีย ปวดบริเวณที่ฉีด หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้บ้าง

ในส่วนของเด็ก อาการที่น่าเป็นห่วงคือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยอุบัติการณ์ของการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบในเด็ก ภายหลังการฉีดวัคซีนของไทย เกิดน้อยกว่าต่างประเทศ โดยต่างประเทศพบ 150 คนใน 1 ล้านคน ที่ฉีดวัคซีน ส่วนในประเทศไทย พบเพียง 10 ราย จากสถิติการฉีดจำนวน 3 ล้านคน โดยทั้ง 10 รายรักษาหายเป็นปกติ

ฉีดวัคซีนไฟเซอร์

โอกาสนี้จึงอยากจะขอสร้างความเชื่อมั่น การได้รับวัคซีนจะก่อให้เกิดผลดี กับกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 อยากจะให้ทุกคนมาฉีดวัคซีน จะช่วยลดอัตราความรุนแรงของโรคโควิด19 ลดอัตราการป่วยหนักลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ลดอัตราการเสียชีวิตได้ 98-99%

นางลักษณา อิศรางกูร ณ อยุธยา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ สำหรับครอบครัวที่ได้รับความลำบาก และจดทะเบียนเป็นผู้พิการ เพื่อให้ได้รับเงิน 1,000 บาทต่อเดือน เข้าสู่กองทุนคุ้มครองเด็ก เพื่อให้ได้รับเงินค่าใช้จ่ายทางการศึกษา และค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล พร้อมส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้ปกครอง ซึ่งในส่วนของการศึกษา จะหาสถานที่เรียนที่เหมาะสมให้ต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo